“นมัสการหลวงพ่อศิลาวัดทุ่งเสลี่ยม
ช้อป CPOT ชมค้างคาว”
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยมนั้นมี ศูนย์กลางชุมชนตั้งอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยม เป็นสถานที่ประดิษฐานของหลวงพ่อศิลาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปีชุมชนจึงจัดงานสักการะหลวงพ่อศิลา มีขบวนแห่ครัวทาน ขบวนพานพุ่มอย่างชาวล้านนา การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสวยงามตระการตาด้วยความศรัทธาพระศิลา และความสามัคคีของคนในชุมชนด้วยอุปนิสัยรักสงบ ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาช้านาน ชุมชนจึงได้เป็นต้นแบบด้านคุณธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมได้ผลิต “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product Of Thailand : CPOT) ผ้ามัดย้อมสะเลียม” โดยนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน บูรณาการการทำงาน นำไปสู่การสร้างสรรค์วัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจให้กับชุมชน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดทุ่งเสลี่ยมโดยพระครูสุเขตสุทธาลังการ (อลงกรณ์ อนาลโย) เจ้าอาวาสนักพัฒนา เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาประเภท ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ (รางวัลเสมาธรรมจักร พระราชทาน) ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งเสลี่ยม จึงเป็นชุมชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาและยังได้เป็นแกนนำในการขยายเครือข่ายชุมชนคุณธรรมของอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย เส้นทางสู่ความสำเร็จของวัดทุ่งเสลี่ยมด้านคุณธรรมจึงเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ราบรื่นไม่ยุ่งยากเพราะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งด้านคุณธรรม วัฒนธรรม ประเพณีอย่างชาวล้านนามาช้านาน
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ความท้าทายของชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม คือการประสานความสามัคคีของคนในชุมชนให้เกิดพลังที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบให้ชุมชนใกล้เคียง การพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆเพื่อให้ทันกาลเวลาและร่วมสมัย เป็นสิ่งที่ท้าท้ายผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ในส่วนของอุปสรรค ชุมชนมีกิจกรรมใส่บาตรข้าวเหนียว และประเพณีอย่างชาวล้านนา นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสุโขทัยจะได้สัมผัสบรรยากาศล้านนาได้ที่ทุ่งเสลี่ยม แต่การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวยังไม่สามารถพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพได้เพราะขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี แต่สามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคนั้นได้ด้วยการจัดงานประเพณีที่ใช้การฟ้อนรำของคนในชุมชนมาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว มีคนนำภาพกิจกรรมงานประเพณีไปเผยแพร่จึงทำให้คนรู้จักมากขึ้น
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ พฤติกรรมคนในชุมชนท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย คือตื่นตัวในการต้อนรับแขกแก้วที่มาเยือน ไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามกระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย สะท้อนคุณธรรมเรื่อง ความพอเพียง ซึ่งชุมชนตื่นตัวในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ร่วมกับพลังบวร เป็นการเสริมสร้างกระแสสังคม กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว สร้างพลังทางคุณธรรมและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างจริยธรรมในชุมชนเพิ่มมากขึ้น คนในชุมชนพอใจในความต้องการ มีความโลภน้อยลง เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง มีความอยู่เย็นเป็นสุขเพิ่มมากขึ้น
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
การพึ่งพาตัวเองได้เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเมื่อทุกคนในชุมชนวัดทุ่งเสลี่ยมสามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้แล้ว ขั้นต่อไปจะวางแผนทำการพัฒนาธุรกิจ“ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product Of Thailand : CPOT) ผ้ามัดย้อมสะเลียม” และอื่นๆ โดยมีการรวมกลุ่มกันในอาชีพเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการรวมกลุ่มกันนั้น ไม่จำกัดเฉพาะการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เกษตรกร ในรูปของสหกรณ์ การทำงานในวัดก็สามารถมีการรวมกลุ่มกันได้ เช่น การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน การแลกเปลี่ยนแนวคิดการลงทุน เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ รวมไปจนถึงการแบ่งปันความช่วยเหลือส่งกลับคืนสู่สังคม ไปสู่กลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เช่น กิจกรรมจิตอาสา ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากขึ้นพร้อมทั้งร่วมสร้างสังคมให้เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ผู้ประสานงานในพื้นที่
พระครูสุเขตสุทธาลังการ เจ้าอาวาสวัดทุ่ง
เสลี่ยม โทร.๐๙๕-๑๔๙-๑๙๖๕
แสดงความคิดเห็น