community image

ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว

อ.โคกโพธิ์ ต.ทรายขาว จ.ปัตตานี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 3 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“เที่ยวชมน้ำตกงามดินแดนพระลือนามอาจารย์นอง

วัฒนธรรมชุมชนสองศาสนาสามัคคี ชมประเพณีชักพระขึ้นเขา

อร่อยหวานทุเรียนทรายขาว”

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนบ้านทรายขาวเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก แต่ไม่ได้สร้างรายได้แก่คนในชุมชนเท่าที่ควร กลุ่มสตรีในชุมชน ทั้งไทยพุทธ และมุสลิม จึงมีความคิดริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการนำวัตถุดิบต่างๆ มาแปรรูปเป็นอาหารทานเล่น หลังจากนั้นมีหน่วยงานภาครัฐมาร่วมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงามและเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนมากขึ้น จึงมีการขยายแนวคิดนี้ไปสู่กลุ่มต่างๆ ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มีผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยหิน ส้มแขก ผ้าทอลายจวนตานี และรถจิ๊บนำเที่ยวโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่โดดเด่น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้มาเยือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ๒ วิถี ไทยพุทธ และไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในชุมชนมายาวนาน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากว่าร้อยปี


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         แม้จะเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม มีทั้งผู้นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่มีความแตกต่าง เนื่องจากการใช้ภาษาเดียวกัน คือ ภาษาทรายขาว สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีการวางหลักการบริหารตำบลทรายขาวตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบัน อีกประการหนึ่งคือ การสลับกันขึ้นดำรงตำแหน่ง “กำนัน” ในแต่ละสมัยจะมีการสลับกันระหว่างกำนันที่นับถือศาสนาพุทธและมุสลิม ซึ่งเป็นความเข้มแข็งและเสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้

ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาวมีการบริหารจัดการชุมชนมีผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางโดยใช้หลักธรรมาภิบาล เข้าใจในบริบทของชุมชนอย่างชัดเจน มีการขับเคลื่อนด้วยพลังบวรเป็นแกนกลางในการประสานการดำเนินงานและขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ตามหลักการ ๙ ขั้นตอน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อส่งเสริมคุณธรรมใน ๓ มิติ ทั้งทางด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และด้านประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน ทุกครอบครัวเป็นคนดีมีคุณธรรม รู้จักพอเพียง พออยู่พอกิน ภาคภูมิใจ รักษาหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นในชุมชน เป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข


ความท้าทาย   

มิติสำคัญที่เป็นความท้าทายของชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาว นั่นคือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน แม้ชุมชนจะมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังคงมีปัญหาที่ส่งผลต่อกระทบในสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ และปัญหาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานการความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแม้ว่าตำบลทรายขาวยังไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ความไม่สงบก็ตาม ทั้งนี้ยังมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

        ผลจากการดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ส่งผลให้คนในชุมชนยึดมั่นในหลักศาสนาที่ตนนับถือเพิ่มมากขึ้น ตระหนักถึงคุณค่าภูมิปัญญา ศิลปะวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนในชุมชนนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การพัฒนาด้านคุณธรรมและศักยภาพของคนในชุมชน ทำให้สามารถบริหารจัดการกลุ่ม องค์กร และจัดกิจกรรมโดยพลังของคนในชุมชนได้เอง ส่งผลให้คนในชุมชนมความสุข ทั้งนี้ ชุมชนได้ร่วมพัฒนาสู่ชุมชนท่องเที่ยวยลวิถี มีการจัดการชุมชนให้มีการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมชมสถาปัตยกรรม ๒ ศาสนา คือ มัสยิดควนลางา มัสยิดโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๓๐๐ ปี ของศาสนาอิสลาม และวัดทรายขาว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๐๐ ภายในวัดมีอุโบสถ อาคารแปดเหลี่ยมหลังคาทรงกลมแหลมยอดประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และมีที่พักแบบโฮมสเตย์ สามารถดูกิจกรรมชมสวนผลไม้ ด้วยการนำนักท่องเที่ยวนั่งรถจิ๊บเข้าป่าลุยเยี่ยมชาวบ้านชาวสวนได้ทานอย่างอิ่มหนำสำราญ ผลไม้ในฤดูกาล ซึ่งมีรสชาติคุณภาพดีเลิศทั้ง ทุเรียน เงาะ ลองกองและมังคุด ในชุมชนมีฐานการการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทอผ้าลายจวนตานี ผ้าทอดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ส้มแขกแช่อิ่ม และกล้วยเส้นทรงเครื่อง มีอาหารท้องถิ่นไว้คอยบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้ประทับใจ

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

        ชุมชนคุณธรรมวัดทรายขาวต้องการสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศ ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชน โดยใช้พลังบวร จัดตั้งจุดบริการนักท่องเที่ยว มีบริการรถจิ๊บสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นพาหนะนำเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีการอบรมพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขและยั่งยืน


ข้อมูลติดต่อ

นายภราดร เพชรศรี ๐๘๙-๙๗๘๒๐๐๕


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายภราดร เพชรศรี ๐๘๙-๙๗๘๒๐๐๕

แสดงความคิดเห็น

profile