“พระเจ้าทันใจเงี้ยวงามศักดิ์สิทธิ์ แหล่งวิจิตรโคมล้านนา ศูนย์เพาะกล้าแผ่นดิน สืบสานศิลป์กลองสะบัดชัย”
ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้ใช้พลังบวรในการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม โดยวัดต๊ำม่อนได้เปิดวัดให้เป็นศูนย์ประสานงานบูรณาการในทุกเรื่องที่จะเชื่อมประสานต่อคนในชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวัด มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พึ่งพาอาศัยกัน สมัครสมานสามัคคี ดูแลซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งมีผู้นำศาสนาคือเจ้าอาวาส พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ
ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนก่อเกิดให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีมีสุข และยึดหลักปฏิบัติตามแนวศีล 5 ในขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ขั้นตอนที่จะเริ่มในศาสนพิธีของชาวล้านนา พร้อมถ่ายทอดสู่เด็กเยาวชนให้ก่อเกิดการขยายเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องประเพณีท้องถิ่นและการอยู่ร่วมกันของชุมชน โดยการบูรณาการ วัด บ้าน โรงเรียน ทำงานร่วมกันซึ่งเด็กเยาวชนได้รับการบ่มเพาะคุณธรรม และมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนเป็นการปลูกฝังความดีที่มั่นคง
พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
วัดต๊ำม่อน
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวัดต๊ำม่อน ได้เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ได้สร้างเป็นสถานที่เรียนรู้วิชาหลักพระพุทธศาสนาให้กับนักเรียน โดยมีเจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อนเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมชุมชนคุณธรรม ซึ่งมีการขับเคลื่อนคุณธรรม ด้วย 3 มิติ ดังนี้
1)มิติด้านศาสนา เน้นการน้อมนำหลักคำสอนมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการรักษาศีล 5 ศีล 8 ส่งเสริมเบญจธรรม ส่งเสริมเรื่องศาสนสัมพันธ์ โดยมีกิจกรรม เช่น ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ประชาเป็นสุข บวรสานรักสามวัย สานใจใกล้ธรรม กล้าคุณธรรม
2)มิติปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เน้นการดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี พึ่งพาตนเอง มีจิตสำนึกต่อสังคมสิ่งแวดล้อม เช่น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชมรมต้นกล้าบ้านต๊ำ ค่ายกล้าอาสา ค่ายละอ่อนกล้าดี
3)มิติวิถีวัฒนธรรม เน้นการสร้างความรัก ความผูกพันในบ้านเกิด มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย โดยเปิดพื้นที่วัดให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ชุมชนเช่น กลุ่มกลองสะบัดชัยวัดต๊ำม่อน กลุ่มโคม-ตุงล้านนา ตานต้อด อ้อมกอดแห่งเมตตา วิทยาลัยฮอมผญ๋า
ต้นกล้าความดีวิถีวัฒนธรรม
พระครูสังฆบุรารักษ์เอกรัตน์อภิรักษ์ อภิครกโข ได้ร่วมกับสถานศึกษา องค์กรต่างๆ ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาคุณธรรมในสถานศึกษาในรูปแบบของค่ายคุณธรรม โดยได้ตั้งกลุ่มพระวิทยากรและวิทยากรอาสาว่า “เครือข่ายเพื่อนฯ คุณธรรม” ซึ่งมีบทบาทในการแก้ปัญหาของสังคมในกลุ่มของเด็กและเยาวชนไม่ว่าเรื่องยาเสพติด เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การทะเลาะวิวาทรวมไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ จำเป็นที่ต้องสร้างกระแสนิยม “รักดี” ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่จัดค่ายอบรมเพียงอย่างเดียวแต่ควรจะมีกระบวนการที่สามารถรวมกลุ่มติดตามสร้างสรรค์พัฒนาไปสู่เวทีของ “กล้าทำดี” ให้เกิดเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไป
จากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้พระราชทานเป็นสมบัติอันล้ำค่าแก่ปวงชนชาวไทย หากเราได้วิเคราะห์ดีแล้วในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิตที่ลดความทุกข์เพิ่มความสุขให้แก่ชีวิตอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นเพศวัยมีการศึกษาระดับใดก็ตามโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรหันมาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางของการปฏิบัติให้มากกว่าการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว
- พอประมาณ คือ ไม่เกินไป
- มีเหตุผล คือ ยึดหลักความจริง
- ภูมิคุ้มกัน คือ ไม่ประมาท
- เงื่อนไขความรู้ คือ พัฒนาปัญญา
- เงื่อนไขคุณธรรม คือ พัฒนาความดี
พระครูสังฆบุรารักษ์เอกรัตน์อภิรักษ์ อภิครกโข
สร้างเครือข่าย ขยายผล ต้นกล้าความดี
การดำเนินงานต้นกล้าแผ่นดินเริ่มด้วยการปรับแนวคิดในการสร้างระบบการทำงานที่เกื้อกูลกัน โดยให้ชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม ซึ่งพระอาจารย์เอก ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในการทำงาน 3 ข้อคือ จุดไฟ ใส่เชื้อ และเกื้อกูล จุดไฟ เป็นการจุดประกาย สร้างศรัทธาในคุณธรรม ซึ่งให้ความรู้หลักในการปฏิบัติ การครองตนตามหลักศาสนาที่นับถือ มีการบ่มเพาะตั้งแต่เด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้กล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่ดีงามอย่างสร้างสรรค์ โดยมีมิติของคุณธรรมเป็นองค์ประกอบ
ใส่เชื้อ เป็นการติดตามการทำงาน คอยให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งทำให้การทำงานมีความต่อเนื่องไม่เงียบหาย โครงการต่างๆ ที่เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน ทำให้เด็กเยาวชนสามารถมีความคิดได้อย่างอิสระ และได้คำชี้แนะที่ถูกต้อง
เกื้อกูล เป็นการเติมเต็มการสร้างขวัญกำลังใจ มีการเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความสามารถ ชื่นชมให้กำลังใจ ให้รางวัลในการทำคุณงามความดี พร้อมส่งเสริมให้เด็กเยาวชนกล้านำเสนอในเวทีต่างๆ จนได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ
กล้าแผ่นดิน ขยันเรียน ขยันทำงาน
กล้าคุณธรรมตามโครงการกล้าแผ่นดินด้วยพลังบวร ประจำปี 2561 ที่เครือข่ายเพื่อนฯ คุณธรรมและสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสถานศึกษา 26 แห่ง ในพื้นที่ 4 ภาค 17 จังหวัด ได้ร่วมกันจัดการอบรมพัฒนาคุณธรรมแก่เยาวชนหลักสูตร “กล้าคุณธรรม” ทั้งแบบค้างคืนและไม่ค้างคืน 53 รุ่นกว่า 11,000 คน
โดยการสนับสนุนพระธรรมวิทยากร สื่อ หลักสูตรกระบวนการอบรมที่เหมาะสม มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความคิด เปิดโลกทัศน์ด้านคุณธรรม ในรูปแบบที่ไม่จำกัดศาสนา สร้างกระแสนิยม “รักดี”และปลูกฝังคุณธรรมที่พึงประสงค์ คือ “ พอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู”
ข้อมูลผู้ประสานในพื้นที่
พระครูสุวัฒน์สังโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน
ตำบลต๊ำม่อน อำเภอเมือง จังหวัดพระเยา
โทร ๐๘๙ ๘๕๒๘๒๙๙
แสดงความคิดเห็น