“ชุมชนน่าอยู่ เชิดชูประเพณีวัฒนธรรม คุณค่าล้ำแหล่งเที่ยวประวัติศาสตร์
ใช้ชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
ชุมชนคุณธรรมวัดตระพังทองประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นถิ่น นับถือศาสนาพุทธ โดยน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มีวัดตระพังทองเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาจิตใจของคนในชุมชน และมีพระมหาดำรงค์ สนตจิตโต เจ้าอาวาสวัด เป็นแกนนำหลักที่ประชาชนเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ขับเคลื่อนชุมชนด้วยโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา อีกทั้งเป็นองค์กรในการประสานการบูรณาการพลัง “บวร” ในพื้นที่ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวัดตระพังทอง จนเกิดเป็นสังคมคุณธรรมที่มีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยไปใช้ในการดำรงชีวิต ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนจึงค่อยๆหมดไป สิ่งดีงามเกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดตระพังทองมีพื้นที่ติดต่อกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและมีภูมิทัศน์ที่งดงาม เกาะกลางน้ำมีสระน้ำบริเวณโดยรอบและมีสะพานเชื่อมต่อระหว่างเกาะกลางน้ำและเจดีย์ประธาน โบราณสถาน จึงมีบทบาทในการจัด “กิจกรรมตักบาตรสะพานบุญรับอรุณแห่งความสุข” ซึ่งได้ถูกจัดขึ้นตามความหมายของคำว่าสุโขทัย ที่มาจากคำว่า สุขะ+อุทัย ซึ่งหมายถึง รุ่งอรุณแห่งความสุข โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ท่านเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง และเครือข่ายชุมชนคุณธรรมวัดตระพังทองเล็งเห็นว่า การตักบาตรรับอรุณ เป็นกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบชาวพุทธได้เป็นอย่างดี จึงเห็นสมควรให้จัดที่วัดตระพังทองด้วยวัดนั้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน อีกทั้งยังมีตลาดสดวัดตระพังทองที่อยู่ในวัด มีความสะดวกในการจัดซื้ออาหารหรือชุดทำบุญตักบาตร ที่ช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย ทางจังหวัดสุโขทัย จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม ใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัย เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา กิจกรรมนี้จึงได้ถูกบรรจุอยู่ในงาน ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟของจังหวัดสุโขทัยที่ยิ่งใหญ่ตระการตาระดับโลกเป็นประจำทุกปี และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของความท้าทายนั้นจะเป็นในเรื่องของความร่วมมือสมานสามัคคีของทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรให้เกิดเป็นรูปธรรม การยกระดับจากชุมชนคุณธรรมให้เป็นชุมชนคุณธรรม บวร On Tour และส่งเสริม สนับสนุนโครงการ “ใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัย” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เห็นได้ชัดคือการจัดใส่บาตรในช่วงฤดูฝน เพราะการใส่บาตรนั้นประชาชนหรือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาใส่บาตรจะนั่งรอพระสงฆ์บริเวณสะพานไม้เกาะกลางน้ำวัดตระพังทอง ที่ไม่มีหลังคาหรือที่บังฝน พระสงฆ์ไม่สามารถออกรับบิณฑบาตได้ การแก้ปัญหา คือ ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจจะใส่บาตรจะนำชุดใส่บาตรมาถวายแด่พระสงฆ์ที่หอฉันภัตตาหาร
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ประชาชนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าในตลาดชุมชนคุณธรรม นักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายใช้สอยในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นก็เกิดผลกระทบจากนักท่องเที่ยว ที่มาท่องเที่ยวในเขตวัดที่มีโบราณสถาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภูมิทัศน์มากขึ้นเช่นกัน รวมถึง ผลกระทบจากหน่วยงานที่เข้าไปจัดกิจกรรมใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัย ในช่วงลอยกระทง ทำให้ค่าใช้จ่ายของวัดเพิ่มมากขึ้น จึงมีการรณรงค์สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว โดยรณรงค์จิตสำนึกท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการขอความร่วมมือให้ส่วนราชการที่มาจัดกิจกรรม มีส่วนร่วมปรับปรุงภูมิทัศน์ การบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในชุมชน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดตระพังทองจะเป็นสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบของกระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับโครงการ “ใส่บาตรสะพานบุญรับอรุณสุโขทัย” จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ พร้อมสร้างความร่วมมือในการปลูกฝังคุณธรรมให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมกันดูแลรักษาสถานที่ให้น่าอยู่น่าเที่ยวตลอดไป
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นางสาวปริณดา สิงห์ลอ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
โทร ๐๘๑ ๘๗๐ ๗๒๐๖
ผู้ประสานงาน (ของชุมชน)
พระมหาดำรงค์ สนฺตจิตฺโต
เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง
โทร ๐๘๕ ๐๕๒ ๓๗๙๗
แสดงความคิดเห็น