“ชุมชนด่านเกวียน แหล่งเรียนศึกษา วัดเด่นเป็นสง่า
ศรัทธาสาธุชน ผู้คนสามัคคี ประเพณีสืบสาน
ตำนานปั้นดิน หัตถศิลป์ถิ่นไทย”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมวัดด่านเกวียน เป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำมูล มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านพืชพันธุ์ธัญญาหาร ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการทำสวน ทำไร่ ทำนา จุดเด่นของชุมชนคุณธรรมวัดด่านเกวียน คือ การปั้นเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาเพื่อใช้ในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนในชุมชนมีการออกแบบ ต่อยอด พัฒนา เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากทำขึ้นมาเพื่อใช้เองแล้วนั้น ยังมีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ชุมชน สามารถจำหน่ายได้ทั่วประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติ ดังนั้นการทำมาหากินในชุมชนจึงมีอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งการทำมาหากินในด้านของการเกษตร รวมถึงการปั้นเครื่องปั้นดินเผาของคนในชุมชนวัดด่านเกวียน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนวัดด่านเกวียน มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ “แม่น้ำมูล” ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก และคนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าวได้ในหลายด้าน ไม่เพียงนำดินมาปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาเพื่อสร้างอาชีพ แม่น้ำมูลยังเป็นทั้งแหล่งอาศัย และแหล่งอาหารที่มีความสำคัญยิ่งกับชาวด่านเกวียนมาช้านาน วิถีถิ่นที่ฝังรากลึกจึงผูกพันบนพื้นฐานของความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อสายน้ำแห่งชีวิต หมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผามาแต่โบราณ นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีนักท่องเที่ยว นิยมมาชมการผลิตและซื้อหาเครื่องปั้นดินเผาเป็นตลาดชุมชนใหญ่ ที่เปิดจำหน่ายและมีบริการให้เข้าชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาครบวงจร
ชุมชนวัดด่านเกวียนได้นำหลักการดำเนินงานชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวรเข้ามาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างให้คนในชุมชนรู้จักพอเพียง พออยู่ พอกิน นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงต้องการให้คนในชุมชนมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย และมีจิตอาสา ให้ความร่วมมือเพื่อส่วนรวม
ความท้าทาย
ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ผ่านมา ชาวบ้านมีการตื่นตัวและรู้จักพึ่งพาตนเองโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นำมาใช้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวในยามวิกฤต คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ ช่วงต้นเดือนเมษายนจะมีพิธีบูชาดินหรือบูชาพระแม่ธรณี ณ ทุ่งป่าตาลติดกับแม่น้ำมูล จัดขึ้นเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินที่ชาวบ้านในชุมชนนำดินมาใช้ในการทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงชีพที่สืบทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.พอเพียง ความพอเพียง คนใสชุมชนยึดหลักการดำเนินชีวิตมุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา การจัดการหนี้สินภายในครัวเรือนอันเนื่องมาจากรายได้ไม่เพียงพอ โดยการรณรงค์ การออม โดย ผู้นำท้องที่ มาให้คำแนะนำ
๒.วินัย คนในชุมชนท้องถิ่น ยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตน และเคารพต่อกฎระเบียบ ของชุมชน ของวัด และกฎหมายบ้านเมือง ส่งผลให้ภายในชุมชนเกิดความสงบสุข
๓.สุจริต คนในชุมชนท้องถิ่น มีความซื่อตรง ชื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความถูกต้องและความดี จึงไม่มีปัญหาการเอารัดเอาเปรียบกันของคนในชุมชน
๔.จิตอาสา ชุมชนคุณธรรมวัดด่านเกวียน โดยผู้นำหมู่บ้าน ท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมทำความสะอาด กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ทั่วไป ตามที่หน่วยงานกำหนด ทุกคนมีความเสียสละ
๕.กตัญญู คนในชุมชนท้องถิ่น มีความกตัญญูรู้คุณสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และผู้มีพระคุณ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป้าหมายที่ประสงค์เพื่อต้องการสืบสาน รักษา ต่อยอดประเพณีวัฒนธรรมและกิจกรรม ต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมายาวนาน อาทิ ประเพณีขอขมาพระแม่ธรณี พิธีสักการะลุ่มน้ำมูล ประเพณีลงแขกดำนา-เกี่ยวข้าวนาวัดด่านเกวียน ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส ตักบาตรเทโว วันออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง ซึ่งทำให้จิตใจของชาวด่านเกวียนทุกดวงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในวิถีของชุมชน
โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษาและประชาชน ร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรม บ่งบอกถึงความรู้รักสามัคคีในหมู่คณะ งานวันลอยกระทง ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ร่วมกันกับทางวัดจัดเตรียมสถานที่
ข้อมูลการติดต่อ
นางสาวฉวีวรรณ แปวกระโทก นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ โทร. ๐๘๑ ๘๗๔ ๕๗๔๓
แสดงความคิดเห็น