ชุมชนคุณธรรมบ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
“วิหารเก่าไทลื้อ
เลื่องลือผ้าทอโบราณ
สืบสานประเพณีจึงบ้าน
ศาลเจ้าหลวงช้างเผือกงาเขียว
เที่ยวชมบ่อน้ำผุด สะดุดตาต้นมะแง
แลเฮินไทลื้อ”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านร้องแงเกือบทำให้วิถีไทลื้อสูญหาย โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตเช่น การบูรณะวิหารที่มีสถาปัตย์กรรมไทลื้อก็มีความขัดแย้งกันแยกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่อยากรื้อให้สร้างเป็นแบบภาคกลางอีกกลุ่มหนึ่งอยากอนุรักษ์วิหารเดิมไว้ ในเรื่องอื่นๆ ก็มักจะมีการแตกแยกทางความคิดทำให้การจะทำสิ่งใดก็มักจะมีปัญหาอุปสรรค การดำเนินชีวิตแบบไทลื้อที่มักจะมีการช่วยเหลือแบ่งปันมีความอ่อนโยนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายหรือมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ก็เริ่มเลือนหายไป
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ความแตกแยกทางความคิดในการบูรณะวิหารวัดร้องแงนั้นบทสรุปคือการดำเนินการบูรณะวิหาร ซึ่งพิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดน่านได้ส่งคนเข้ามาให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการชุมชนคุณธรรมของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่านทำให้ได้แนวคิดและแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ชาวบ้านจึงเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์วิถีไทลื้อโดยมีวัดร้องแงเป็นศูนย์กลาง ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประกอบในการอนุรักษ์ และปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากนั้นจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบจังหวัดน่าน ดำเนินการจัดทำข้อมูลถอดบทเรียนชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้
-สร้างความเข้าใจแก่ชุมชน โดยการจัดการประชุมตัวแทนของทุกครอบครัวในหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
-ข้อตกลงชุมชนมีความมุ่งมั่น ต้องการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น นำเอาวัฒนธรรมไทลื้อเป็นจุดแข็งในการพัฒนา
-สร้างกลุ่มแกนนำ แสวงหาทีมงาน ที่เป็นนักคิด นักพัฒนา มาร่วมเป็นทีมงานในการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นกลุ่มริเริ่ม ความดีที่อยากทำ
- แกนนำร่วมกันสำรวจข้อมูลอัตลักษณ์ไทลื้อบ้านร้องแงที่โดดเด่น นำมาศึกษา วิเคราะห์ จัดให้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติงาน และสามารถจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ
-ชุมชนและแกนนำหมู่บ้านดำเนินงานแบบร่วมคิดร่วมทำโดยให้ครอบคลุมหลักคุณธรรม ๖ ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู และหลักคุณธรรมที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา
-กำหนดเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมร่วมกัน สามารถนำไปพัฒนางานและต่อยอดได้
-ดำเนินงานแบบร่วมคิดร่วมทำโดยกำหนดให้มีเนื้อหาสาระใน ๓ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ
๑.นำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเข้ามาใช้ก่อให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง และความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์
๒.การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๓.ดำเนินชีวิตอย่างมีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย รักษาสืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ชุมชนบ้านร้องแงจึงมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประกวดในงานต่างๆ ที่องค์กรหรือหน่วยงานได้จัดขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาหมู่บ้านสู่มาตรฐานสากล แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี จึงได้รับรางวัลมากมาย เช่น ปี๒๕๕๙ ได้รับรางวัลลานวัฒนธรรม “ระดับดีเด่น” ภายใต้โครงการพัฒนาอัตลักษณ์น่าน สร้างสรรค์เศรษฐกิจ เป็นต้น
ความท้าทาย
๑.แนวความคิดที่แตกต่างกัน
๒.งบประมาณที่ได้รับจากหน่วยงานราชการไม่เพียงพอในการดำเนินการซึ่งชุมชนจะใช้วิธีขอบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา
๓.ชาวบ้านต้องทำมาหากิน บางครั้งไม่ได้ร่วมกิจกรรมจึงมีการแก้ปัญหาโดยสร้างจิตสำนึกในการเสียสละเวลามาร่วมกิจกรรมหรือบางครั้งก็จำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทนบ้าง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.ชาวบ้านในชุมชนได้มีความรู้และรู้จักในการอนุรักษ์วิถีไทลื้อมากขึ้น ทั้งศิลปะวัฒนะธรรมและการดำเนินชีวิตมีความสามัคคีในชุมชนมากขึ้น
๒.มีการรวมกลุ่มเพื่อให้ชุมชนมีการดำเนินการตามวิถีไทลื้อที่เคยมีในอดีต
๓.มีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ควบคู่กับการดำเนินชีวิตตามวิถีไทลื้อ
๔.ชุมชนบ้านร้องแงได้รับรางวัลต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงระดับชาติ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
บ้านร้องแงมีเป้าหมายและมีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยววิถีไทย วิถีไทลื้อ ผ่านวัฒนธรรม จารีตประเพณี กับภูมิปัญญาปราชญ์ในหมู่บ้าน มีการแบ่งกลุ่มอาชีพหารายได้ มีความพร้อมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีที่พักโฮมสเตย์ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนบ้านร้องแง เพื่อให้เป็นต้นแบบหมู่บ้านคุณธรรม มีเครือข่ายสายใยผูกพันกับชุมชนคุณธรรมได้ทั่วประเทศ พร้อมให้ต้อนรับผู้ที่สนใจทั้งทางด้านสถานที่ แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ OTOP การสืบสานพิธีกรรม ภูมิปัญญาของหมู่บ้าน และศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระครูพิสุทธิ์วรคุณ เจ้าอาวาสวัดร้องแง
๐๘๙-๙๖๔๘๓๔๕
แสดงความคิดเห็น