กว่าจะมาเป็นวันนี้
หมู่บ้านดอนไชยเป็นชุมชนชนบท คนในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์อันกลมเกลียว มีความรักใคร่สามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แต่เมื่อมีความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน ประกอบกับการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทำให้วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็เริ่มห่างเหิน และได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้กลุ่มผู้นำชุมชนต้องร่วมกันหามาตรการในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และได้ดำเนินการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดเรื่อยมา จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เมื่อแกนนำชาวบ้านตระหนักถึงปัญหายาเสพติด และเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องสร้างแนวร่วมชาวบ้านทุกคนเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน จึงเกิด “เวทีประชาคม” ซึ่งเป็นการนัดรวมพลชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจถึง สถานการณ์ปัญหายาเสพติด และความจำเป็นที่ต้องร่วมกันจัดการ เมื่อคนในชุมชนเกิดความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนจนเกิดความเข้มแข็งและได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินในปี๒๕๔๗ ทั้งนี้ จากการประชาคมได้มีมติ กำหนดแนวทางการขยายกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประกอบด้วย แนวทางแห่งศักดิ์สิทธิ์ (เงินขวัญถุง)
แนวทางแห่งศรัทธา และแนวทางแห่งปัญญา
ทั้งนี้ชุมชนยังมีปัจจัยอื่นในการดำเนินการขับเคลื่อน อาทิ
ศรัทธา ความเชื่อ และประเพณีวัฒนธรรมคนในชุมชน
การมีส่วนร่วมกิจกรรมของกองทุนแม่ของแผ่นดิน มีการรวมกลุ่มตามอาชีพและความถนัดของแต่ละคนที่เข้มแข็ง
ด้านระเบียบข้อบังคับ การบริหารให้เกิดความชัดเจน
นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จอื่นๆ ประกอบด้วย
๑.เริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนักและการปลูกจิตสำนึกในกระบวนการมีส่วนร่วม
๒.การทำงานเป็นทีมด้วยความสมัครใจ แบ่งผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยไม่คิดค่าตอบแทน
๓.ทำงานแบบบูรณาการ ทั้งฝ่ายท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) ฝ่ายท้องถิ่น (ทต.) และภาคีพัฒนา
๔.มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง สามารถเป็นที่ศึกษาดูงานจากภายนอกชุมชน
๕.มีการเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งแก่ชุมชน
๖.มีการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในชุมชนอย่างครบวงจรเป็นองค์รวม และเหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างได้ผลและเกิดความยั่งยืน
ความท้าทาย
ปัญหาและความท้าทายของชุมชนบ้านดอนไชย หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ได้แค่
๑.ความท้าทายต่อการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด
๒.ความท้าทายต่อปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า - 2019 (COVID - 19)
๓.ความท้าทายต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ
๔.ปัญหาด้านการบูรณาการการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ชุมชนได้พยายามเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วนและทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอและระดับจังหวัด
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.คนในชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิกที่มีฐานะยากจนหรือกลุ่มเสี่ยง นำเงินทุนไปประกอบอาชีพรายละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพให้ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพที่มั่นคงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
๒.หมู่บ้านมีการบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ มีการถ่ายทอดและนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมและสนับสนุน การเรียนรู้ด้านการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรม “คนเกิดก่อนสอนละอ่อนเกิดลูน” โดยปราชญ์ชาวบ้านจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีในชุมชนให้แก่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และมีการสืบทอดไว้ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา
๓.การบริหารงานของคณะกรรมการมีการจัดทำงบประมาณและจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นกลไกทำให้เกิดความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกัน
๔.คนในชุมชนมีความสามัคคี รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม เห็นได้จากความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
๕.เกิดการส่งเสริมให้คนในชุมชนรักษาศีล ๕ ตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ส่งเสริมการเข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ส่งผลให้คนในชุมชนมีการประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม อยู่ในครรลองครองธรรม อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขและชุมชนมีความสงบสุข
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑.เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน
๒.เป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
๓.พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินในระดับประเทศ
ผู้ติดต่อในพื้นที่
ดต.สวงษ์ ใหม่จันทร์ ประธานคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านดอนไชย โทร.๐๙๐-๑๕๐-๑๐๖๘
แสดงความคิดเห็น