ชุมชนคุณธรรมบ้านชายทะเลรางจันทร์เป็นชุมชนที่ชาวบ้านมีความรัก สมัครสามานสามัคคี โดยมุ่งที่จะพัฒนาตนเอง และชุมชนอยู่เสมอ จนทำให้คนในชุมชนทุกครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ปัญหาอบายมุขต่าง ๆ มีจำนวนน้อยมาก รวมทั้งเยาวชนในชุมชน ยังคงรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นพร้อมกับเติบโดยเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านชายทะเลรางจันทร์ ชุมชนวิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งดั้งเดิม ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น แต่เดิมคนในชุมชนพื้นฐานเป็นคนที่มีน้ำใจอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในการขับเคลื่อนชุมชนแบบมีส่วนร่วมมากนัก อาชีพหลักของคนในชุมชนคืออาชีพแปรรูปอาหารทะเล โดยกะปิเป็นผลิตภัณฑ์หลักของชุมชน
ชาวบ้านเดิมทีจะผลิตกะปิเป็นอาชีพของครอบครัวแล้วต่างคนต่างขาย เกิดการตัดราคากันเอง ซึ่งไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคากลางได้ จนทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมกันผลิตกะปิและกำหนดราคาขาย เมื่อชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ที่แน่นอน มากขึ้น จึงรวมตัวกันพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของชุมชนคุณธรรมบ้านชายทะเลรางจันทร์ ได้แก่ คนในชุมชนยึดหลักคุณธรรม และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง มาดำเนินชีวิต
การยึดหลักคุณธรรม คนในชุมชนแต่ละคนมุ่งจะพัฒนาตนเอง ทั้งการมีวินัยต่อตนเองในการดำเนินชีวิต อาทิ เยาวชนมีความขยัน กตัญญู ปฏิบัติหน้าที่ตามวัยของตนเองได้อย่างดี และยังเอื้อเฟื้อความมีน้ำใจต่อชุมชน ส่วนผู้ใหญ่ในชุมชนมีความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ตามหลักคุณธรรม และยังดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชน
การมีส่วร่วมของคนในชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา และแนวทางการพัฒนาชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรม และโครงการต่างๆ ของชุมชน นอกจากนี้แล้วยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ชื่อสัตย์ต่ออาชีพ ชาวบ้านผลิตกะปิด้วยความใส่ใจในคุณภาพ เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค จนได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ในจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของคนในชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังคงมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือยังไม่มีความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยพื้นฐานของคนในชุมชนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความถ้วยทีถ้อยอาศัยกัน จึงสามารถร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ประสบความสำเร็จในแต่ละด้านจากจุดเล็กๆ จึงพัฒนาเป็นกิจกรรม โครงการที่ใหญ่ขึ้น
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
เมื่อชุมชนเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมจากทีละเล็กทีละน้อย ที่เกิดการพัฒนาตนเองของผู้นำชุมชน และคนในชุมชนบางส่วน นำไปสู่การพัฒนาครอบครัว และขยายวงกว้างเป็นทั้งชุมชน ปัญหาด้านการเงินของคนในชุมชนค่อยๆ คลี่คลาย โดยชาวบ้านมีการจดบัญชีครัวเรือนเพื่อรับรู้รายรับรายจ่ายของครอบครัว ดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาตนเองและตอบแทนสู่ชุมชน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ละทิ้งท้องถิ่น
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะดำรงรักษาสิ่งแวดล้อม และปลูกฝังการมีวินัยต่อส่วนรวม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ โดยเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเอง โดยปัจจุบัน ได้เริ่มขยายผลเรื่องราวความสำเร็จของชุมชนให้แก่บุคคล และองค์กรภายนอกได้รับรู้ ซึ่งมีกระแสตอยรับจากสังคม มีผู้สนสนใจเข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีชุมชนเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประสานงานในพื้นที่
ที่ตั้ง หมู่ที่ 4 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้นำชุมชน นางมาเรียม กงม้า
ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน
เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑ ๗๙๓ ๙๘๒๒
แสดงความคิดเห็น