community image

เทศบาลตำบลบางเหรียง

อ.ควนเนียง ต.บางเหรียง จ.สงขลา
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“เมืองไร้ถัง”

“เทศบาลตำบลบางเหรียงไม่วางถังขยะและไม่มีบริการเก็บขยะ”


จากกรณีศึกษาชุมชนหน้าสถานีรถไฟบ้านเกาะใหญ่ หมู่ที่ ๑๐ ซึ่งมีความหนาแน่นของประชาชนมากที่สุดในเขตเทศบาลตำบลบางเหรียง โดยการทดลองให้ชุมชนวางถังขยะหน้าบ้าน พบว่าขยะ ๑ ถัง ปริมาณ ๒๐๐ ลิตร มีขยะทั่วไปที่ต้องกำจัดเพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้น ส่วนที่เหลือสามารถบริหารจัดการได้ เทศบาลตำบลบางเหรียงจึงจัดโครงการ “เมืองไร้ถัง” ขึ้นโดยเน้นให้ความรู้แก่ประชาชนในเชิงรุกและประกาศให้ทราบว่า “เทศบาลตำบลบางเหรียงไม่วางถังขยะและไม่มีบริการเก็บขน” แต่ให้ประชาชนบริหารจัดการขยะด้วยตนเอง ตั้งแต่ต้นทาง


ผลลัพธ์ความสำเร็จ :

การบริหารจัดการขยะด้วยตนเอง

ความสำเร็จเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่เริ่มต้นจากปัญหาของชุมชนเอง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นที่สุดในพื้นที่ตำบลบางเหรียง ได้ประสบกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งก่อนที่จะดำเนินโครงการนวัตกรรม ชุมชนกำจัดขยะโดยวิธีการเผา ทำให้บ้านเรือนข้างเคียงได้รับผลกระทบทางด้านมลพิษ จึงได้เรียกร้องให้เทศบาลดำเนินการเก็บขนขยะ โดยสมาชิกสภาเทศบาลได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การประชุมสภาเทศบาล แต่เมื่อสภาพิจารณาจากสภาพปัญหาโดยรวมของพื้นที่แล้ว ปรากฎว่าประชาชนส่วนใหญ่สามารถกำจัดขยะได้ด้วยตนเอง จึงให้ชุมชนดำเนินการทดลองวางถังขยะ แล้วนำขยะมาคัดแยก ออกเป็น ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ทำให้ชุมได้ทราบว่าขยะที่ต้องกำจัดเองนั้น มีเฉพาะขยะทั่วไปแค่ร้อยละ ๑๕ เท่านั้น ไม่เกินกำลังที่แต่ละครัวเรือนจะบริหารจัดการได้ จึงมีการขยายผลให้ทุกครัวเรือนในพื้นที่เทศบาลตำบลบางเหรียงบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วยตนเอง


จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการขยะ ภายใต้แนวคิด “ขยะเกิดที่ไหน กำจัดที่นั่น” ลดภาระค่าใช้จ่ายของเทศบาลลงปีละ ๓,๒๑๖,๐๐๐ บาท ทำให้เทศบาลสามารถนำงบประมาณในไปบริหารจัดการในด้านอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้


ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยการสร้างความเข้าใจ

ถึงแม้ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการจะมีอุปสรรคสำคัญคือ ความไม่เข้าใจของคนในชุมชน ด้วยเป็นนโยบายที่สวนกระแสกับพื้นที่ข้างเคียง เกิดข้อเปรียบเทียบ เช่น ทำไมท้องถิ่นอื่นบริการเก็บขนขยะให้ประชาชนได้ แต่เทศบาลตำบลบางเหรียงทำไม่ได้ เทศบาลจึงต้องใช้เวทีการประชุมชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมรับรู้ในกระบวนการและแนวคิดการบริหารจัดการของเทศบาล ชูประเด็นปัญหาขององค์กรที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะแต่ละแห่งว่ามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และปัญหาสถานที่กำจัดขยะของจังหวัดสงขลา สุดท้ายแล้วเมื่อได้เรียนรู้ปัญหาร่วมกัน ก็สามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ และเป็นต้นทุนในการสานต่อนโยบาย “เมืองไร้ถัง” ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือดังกล่าวนี้เองคือสิ่งสะท้อนให้เห็นคุณธรรมของคนในชุมชน ดังนี้

๑.พอเพียง ประชาชนมีความเข้าใจในการรับบริการจากภาครัฐ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในส่วนที่อื่น

๒.วินัย จากการดำเนินโครงการ ส่งผลให้ประชาชนในตำบลบางเหรียง มีวินัยในการคัดแยกและทิ้งขยะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินการจัดการขยะด้วยตนเอง   

๓.สุจริต ประชาชนตำบลบางเหรียงบริหารจัดการขยะด้วยตนเอง มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง ไม่นำขยะของตนเอง ไปทิ้งในพื้นที่อื่น ซึ่งจะสร้างภาระให้แก่ท้องถิ่นหรือบุคคลอื่น ในการดำเนินการกำจัดขยะ

๔.จิตอาสา ได้มีการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล เพื่อหารายได้ให้แก่โรงเรียนทุกโรงเรียนในตำบลบางเหรียง ผลจากการดำเนินโครงการ ประชาชนได้นำขยะรีไซเคิลมาร่วมกองบุญมากกว่า ๓๑ ตัน เป็นเงินรายได้ ๑๐๘,๒๓๙ บาท แสดงถึงความรัก ความสามัคคีของชุมชน และจนถึงขณะนี้ แม้ว่าเทศบาลจะไม่สามารถจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะได้ เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ แต่ก็ยังมีประชาชนบริจาคขยะรีไซเคิลให้กับเทศบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ต่อไป


ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :

นางสาวสายุธ ฉิมสนิท

ปลัดเทศบาลตำบลบางเหรียง

หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๙ ๘๗๙ ๐๗๘๑

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางสาวสายุธ ฉิมสนิท ๐๘๙ ๘๗๙ ๐๗๘๑

แสดงความคิดเห็น

profile