“โกปี้บ้านโตน โอบอุ้มด้วยน้ำตกปาหนัน บันเทิงกันที่ลานสะบ้า ท่องเที่ยวป่าสิริกิตที่สำคัญ
พักผ่อนกันที่โฮมสเตย์”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
เดิมชุมชนบ้านโตนเป็นชุมชนธรรมชาติ พันธุ์ไม้หลากหลายชนิด มีโบราณสถาน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยมีสภาพปัญหาก่อนจะมาเป็นชุมชนต้นแบบ ดังนี้
๑.สมาชิกในหมู่บ้านไม่มีความสามัคคีกัน ต่างคนต่างใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเรือนของตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีที่ดินและสวนเป็นของตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด
๒.พืชพันธุ์ไม้ที่มีอยู่เดิมไม่ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์ ปล่อยให้เป็นที่รกร้าง
๓.ประชาชนมีรายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพครอบครัว
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เริ่มต้นมาจากสภาพปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนหลายประการ เช่น ชาวบ้านประสบปัญหาความยากจน รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน ชาวบ้านไม่สนใจความเป็นอยู่ของครัวเรือนอื่น ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกัน ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้และอยากเห็นคนในชุมชนมีความสามัคคี มีน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยเริ่มต้นจาก เดิมในชุมชนมีต้นกาแฟพื้นบ้าน พันธุ์โรบัสต้าอยู่ ๑ ต้น ซึ่งอยู่หลังบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านจึงเกิดแนวคิดที่จะนำกาแฟดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน จึงได้มีการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน” โดยกลุ่มฯดังกล่าวได้รับซื้อพืชผลกาแฟจากชาวบ้านเพื่อนำมาคั่วและแปรรูปเป็นผงกาแฟ สบู่กาแฟ นำออกขายแก่นักท่องเที่ยว นักศึกษา หรือผู้มาศึกษาดูงาน และเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิสาหกิจแก่ผู้ที่สนใจได้ลองคั่วกาแฟ
นอกจากนี้ในชุมชนยังมีต้นสะบ้าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อออกลูกออกผลชาวบ้านก็นำลูกสะบ้ามาทำเป็นการละเล่นประจำชุมชน เรียกว่า การเล่นสะบ้า ณ ลานสะบ้า เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมชม ไม่เพียงเท่านี้ ชุมชนบ้านโตนยังมีแหล่งน้ำตกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เดิมน้ำตกดังกล่าวไม่มีชื่อเรียก ปัจจุบันชื่อว่า “น้ำตกโตนปาหนัน” ซึ่งคำว่า โตน เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปลว่า น้ำตก ส่วนปาหนัน เป็นชื่อต้นไม้ซึ่งขึ้นล้อมรอบบริเวณน้ำตก ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่า น้ำตกโตนปาหนัน ซึ่งน้ำจากน้ำตกได้ไหลไปทั่วบริเวณลำธารของหมู่บ้านรวมถึงบริเวณโรงคั่วโกปี้ (กาแฟ) ด้วย จึงเกิดเป็นกิจกรรมการนั่งรับประทานอาหารริมลำธาร มีการกินข้าวในกระบอกไม้ไผ่ อาหารพื้นถิ่นของชุมชน ได้แก่ ยำผักกูด แกงไก่ใส่ลูกกล้วย น้ำพริก ผักลวก เป็นต้น
ความท้าทาย
ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ จึงเป็นการยากในการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จึงต้องอาศัยการกระทำและพูดซ้ำๆเพื่อให้ชาวบ้านเห็นผลดีของการจัดตั้งกลุ่มฯขึ้นมา ทั้งเป็นการริเริ่มสิ่งใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในชุมชน แน่นอนชาวบ้านย่อมไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้น
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลลัพธ์
๑.ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลไม้ หรือกลุ่มวิสาหกิจฯโดยตรง มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ผ่านพ่อค้าหรือแม่ค้าคนกลาง จากการมาเที่ยวของนักท่องเที่ยวหรือผู้มาดูงาน
๒.ชาวบ้านมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เกี่ยงกัน
ผลกระทบ
๑.ปัญหา ขยะ มลภาวะและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ย่อมไม่มีวินัยในการทิ้งขยะ มักจะทิ้งขยะลงในน้ำตกหรือลำธาร ทำให้น้ำตกไม่ใสสะอาด ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ชุมชนเต็มไปด้วยขยะ แม้ว่าจะมีถังขยะวางไว้ในชุมชนจำนวนมาก
๒.รายได้ของคนในชุมชนลดน้อยลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
๓.มีคนนำลิงไปปล่อยในป่าหรือสวนที่ชาวบ้านปลูกพืชผลการเกษตร ลิงทำลายพืชพันธุ์ผลไม้ ส่งผลให้ประชาชนขาดรายได้
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ขยายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยขยายเพิ่มอีก ๓ กลุ่ม ได้แก่
๑.กลุ่มสมุนไพร โดยนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการรักษาโรค เช่นปลาไหลเผือก ใช้รักษาโรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น
๒.กลุ่มแชมพูสะบ้า นอกจากนำผลสะบ้ามาใช้เป็นการละเล่นประจำชุมชนแล้ว เถาของต้นสะบ้า สามารถนำมาทำเป็นแชมพูเพื่อใช้ลดรังแคหรือความมันได้อีกด้วย
๓.กลุ่มขนมรายอ เดิมมีเพียงชาวบ้านบางเรือนเท่านั้นที่ทำ เนื่องในเทศกาลวันฮารีรายอ แต่ชุมชนประสงค์จะทำให้เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เป็นที่รู้จัก และเป็นจุดเด่นประจำชุมชน
ข้อมูลติดต่อ
นายบีสอน ลัสมาน ผู้ใหญ่บ้าน ๐๘๔-๗๕๐-๘๖๗๔
แสดงความคิดเห็น