“ธรรมะจากป่าช้า นำรายได้สู่ชุมชน”
ชุมชนคุณธรรมวัดเสาธงทองมีเรื่องราวโดดเด่นพิเศษคือ แหล่งสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน โดยเปิดร้านกาแฟป่าช้าคาเฟ่ ตลาดนัดวัฒนธรรมภายในวัดให้ประชาชนในชุมชนนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตนเองมี มาขายเพื่อสร้างรายได้ เป็นการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลางยึดหลักธรรม มีความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมวัดเสาธงทอง เป็นชุมชนคุณธรรมที่ขยายเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวมาจากชุมชนคุณธรรมบ้านนายม และศึกษาต้นแบบการพัฒนาวัดจากชุมชนคุณธรรมวัดผดุงราษฎร์ ที่มีแนวคิดในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยนำแนวคิดจากชุมชนทั้งสองแห่งมาปรับปรุงให้เข้ากับชุมชนของตนเอง โดยชุมชนคุณธรรมวัดเสาธงทองมีความเข้มแข็งของชุมชน คือ มีวัดเสาธงทองเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนภายในชุมชน เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะ และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนนำหลักธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ประกอบกับวัดเสาธงทองมีบริเวณวัดกว้าง มีต้นไม้รุกขมรดก และบริเวณป่าช้าจะเป็นต้นไม้ปกคลุมทึบ ทำให้ใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ ประชาชนในชุมชนและหน่วยงานรัฐในพื้นที่จึงร่วมกันดำเนินการจัดสวน จัดภูมิทัศน์หน้าวัด เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในชุมชนและประชาชนที่มากราบไหว้พระ เมื่อดำเนินการจัดสวนเรียบร้อยจึงเกิดแนวคิดการทำร้านกาแฟ โดยมีประชาชนในชุมชนร่วมกันคิดค้นสูตรน้ำต่างๆ ในช่วงแรกยังไม่มีชื่อร้านกาแฟ แต่ได้หันไปมองเห็นบริเวณด้านหลังของพื้นที่เป็นที่เก็บกระดูก ทำให้นึกถึงคำว่าป่าช้า จึงนำมาตั้งชื่อร้าน คือ ป่าช้าคาเฟ่ ซึ่งสื่อถึงวัด และเป็นเอกลักษณ์สะดุดหู เกิดผู้สนใจแวะเวียนมาชิมเมนูคาเฟ่สุดหลอน เป็นจำนวนมากต่อมาจึงเกิดไอเดียร์ตั้งชื่อเมนูใหม่โดยนำลักษณะของผีต่างๆ มาตั้งให้สอดคล้องกับรสชาติ และจุดเด่นของเครื่องดื่มนั้นๆ เช่น กระหังโบยบิน (เอสเปรสโซ่) ผีเล่นตม(ม็อคค่า) เป็นต้น
นอกจากนี้คาเฟ่มีการสอดแทรกเรื่องราวและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายนำมาถวายวัดเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบไป และเมื่อร้านกาแฟป่าช้าคาเฟ่มีประชาชนเข้ามากขึ้น จึงเกิดแนวคิดต่อยอดโดยการเปิดตลาดวัฒนธรรมให้ประชาชนในพื้นที่นำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์จากการเกษตร ของที่ระลึก อาหารพื้นบ้านมาขายสร้างรายได้สู่ชุมชน และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ในส่วนของอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาต้นไม้ปกคลุมทึบ จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่ ภูมิทัศน์ โดยอาศัยความร่วมมือพลังบวร รวมถึงปัญหาขยะซึ่งเกิดจากการท่องเที่ยว จึงเน้นให้ใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
สังเกตได้ว่าปัญหาด้านภูมิทัศน์วัด ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เครือข่ายพลังบวร และวัด ในการพัฒนาพื้นที่วัด กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์วัดเสาธงทอง ทำให้ภูมิทัศน์วัดเสาธงทองเกิดความสวยงาม สามารถเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในชุมชนและเป็นจุดแวะเที่ยวของประชาชนนอกชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความรักและสามัคคีของประชาชนชนภายในชุมชนในการร่วมกันพัฒนาวัด เมื่อทำคาเฟ่แล้วทำให้ประชาชนเข้าวัดมากขึ้น คนในชุมชนมีรายได้จากการนำสินค้ามาขาย รวมถึงได้รับหลักธรรมที่สอดแทรกในบริเวณต่างๆ ของร้านกาแฟป่าช้าคาเฟ่ และตลาดนัดวัฒนธรรม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑)พัฒนาป่าช้าให้เป็นตลาดวัฒนธรรมที่นำวิถีชีวิตคนนายม ซึ่งค้าขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน พืช ผัก ผลไม้ ขนม อาหารมาจำหน่าย
๒)จัดแหล่งเรียนรู้เรื่องศาสนาในบริเวณวัด
๓)จัดเส้นทางศึกษาต้นไม้รุกขมรดกในวัด ในชุมชน
๔)จัดกิจกรรมท่องเที่ยวจักรยาน 4 วัด ในตำบลนายมศึกษาประวัติศาสตร์ อาชีพ ภูมิปัญญาของตำบลนายม
๕)จัดกลุ่มเยาวชนด้านวัฒนธรรม จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมในตลาดวัฒนธรรม ทุกวันเสาร์ อาทิตย์
๖)จัดกิจกรรมฟังธรรม ปฏิบัติธรรมทุกวันพระตอนเย็น
ผู้ประสานงานในพื้นที่
ผู้ประสานงาน (ของชุมชนฯ)
พระมหาจักรพันธ์ เมตฺติโก
โทร ๐๙๖-๖๖๗-๐๔๔๑
ที่อยู่ ๑๓๘ วัดเสาธงทอง ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ๖๗๒๑๐
แสดงความคิดเห็น