จากชมรมผู้สูงอายุ สู่กองทุนสวัสดิการ
กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ ๑ บาท เริ่มต้นจากชมรมผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบความช่วยเหลือ เกื้อกูล จากฐานรากของทรัพยากรท้องถิ่นและคนในชุมชน และเพื่อต้องการการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกและฐานะทางการเงินของกองทุน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกัน การมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบความช่วยเหลือ เกื้อกูลกันของคนในชุมชนให้มีวินัย ประหยัด และเก็บออม
กองทุนมีการจัดสวัสดิการชุมชน โดยจัดสวัสดิการ ๑๓ ประเภท คือสวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วยรักษาพยาบาล สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการกรณีเสียชีวิต สวัสดิการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ สวัสดิการคนด้อยโอกาสพิการ สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ สวัสดิการเพื่อการศึกษา สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม สวัสดิการสนับสนุนสาธารณประโยชน์ สวัสดิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สวัสดิการคนทำงาน สวัสดิการสมาชิกอายุครบ ๘๕ ปี และสวัสดิการคนสุขภาพดี
ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กองทุนสวัสดิการชุมชนตระหนักและให้ความสำคัญการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน ชุมชน โดยคณะกรรมการกองทุนและสมาชิกได้สนับสนุนและเข้าร่วมโครงการ กิจกรรมในหลากหลายด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ การปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มป่าชุมชนและเพิ่มพื้นที่สีเขียว การทำฝายชะลอน้ำในหมู่บ้าน เพื่อชะลอน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง การปลูกพืชปลอดสารเคมี เน้นการปลูกผักกินเองในครัวเรือน ในรูปแบบ “ผักสวนครัว รั้วกินได้” การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) ทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลล์ จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว การใช้เตาชีวมวล ในการปรุงอาหารในครัวเรือน และการคัดแยกและจัดการขยะ “แยกก่อน ทิ้ง”
กระบวนการปลูกฝังความรับผิดชอบ
การจัดการแก้ปัญหาขยะในช่วงที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเริ่มแก้ไขปัญหาจากต้นทาง คือ บ้านเรือนในชุมชน โดยการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้งในถังขยะ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐได้รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการคัดแยกขยะและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง
ปลูกฝังความคิดการจัดการขยะ
: ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่
กองทุนสวัสดิการชุมชน ได้นำแนวคิดการคัดแยกขยะ มาเป็นแนวทางแก่สมาชิก และคนในชุมชน หมู่บ้าน ให้สามารถบริหารจัดการขยะได้ด้วยตนเอง เน้นหลักการง่ายๆ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ ลดปริมาณขยะในครัวเรือนให้เหลือน้อยที่สุด ภายใต้แนวคิดที่ว่า เมื่อขยะเกิดขึ้นทุกวันก็สามารถนำมารีไซเคิลและสร้างรายได้จากขยะได้เช่นกัน
สร้างวินัย ใส่ใจการจัดการขยะ
การจัดการขยะใช้หลักการปฏิบัติแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด คือ
๑)ลด เป็นการลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
๒)คัดแยก มีการคัดแยกขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก และขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟ
๓)ใช้ประโยชน์จากขยะ ด้วยการนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักน้ำนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑. สมาชิกกองทุนและคนในชุมชน สามารถคัดแยกขยะได้ด้วยตนเอง
๒. ขยะจากครัวเรือน มีปริมาณลดลง
๓. ปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัดน้อยลง
๔. มีรายได้เพิ่มจากการนำขยะไปแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม
๕. ขยะบางส่วนนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบของพลังงานทดแทน
๖. เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางสาวสุจิต รักษาศรี ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลที่วัง
มือถือ ๐๘๙ ๒๑๗๙๕๔๒
แสดงความคิดเห็น