community image

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองฝ้าย

อ.หนองหงส์ ต.เมืองฝ้าย จ.บุรีรัมย์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 1 คน
cover

เดิมตำบลเมืองฝ้าย เป็นหมู่บ้านชื่อว่าบ้านฝ้าย ขึ้นกับตำบลหนองกระทิง ต่อมาได้ตั้งเป็นตำบลและเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลเมืองฝ้าย มาจากภาษาเขมรว่า บันเตรียะเซาะกะบะ แปลว่าเป็นที่พักของกองทัพทหารในสมัยทราวดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ มีการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมมาจากชาวเขมร ตำบลเมืองฝ้าย มีลักษณะเป็นที่ราบสูงส่วนมาก ประชาชนมีอาชีพเกษตรกร ปัจจุบันประชากรมีประชากร จำนวน ๗,๓๖๐ คน ดั้งเดิมชุมชนตำบลเมืองฝ้าย มีวัฒนธรรมที่แตกต่างของชน ๔ เผ่า ประกอบด้วย เขมร ส่วย ลาว และไทยโคราชจึงต่างคนต่างอยู่ ต่างทำมาหากิน มีภูมิปัญญาที่แตกต่างและหลากหลาย และจากการพัฒนาของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ชุมชนตระหนักว่าจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ บนฐานของความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ดังนั้นจำเป็นต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เสมอภาค ให้เกียรติกัน และการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม จึงใช้พื้นฐานหลักธรรมทางศาสนา ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลรวมถึงให้ทุกกลุ่มได้แสดงอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเสรี มีความเคารพซึ่งกันและกันอยู่บนวิถีคุณธรรม สร้างความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ เคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน มีความไว้ใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน และสิ่งสำคัญซึ่งชาวตำบลเมืองฝ้ายให้ความสำคัญอย่างมาก คือด้านวัฒนธรรม


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

๑.การระดมความคิดเห็นที่เริ่มมาจากหมู่บ้าน ตัวแทนกลุ่ม องค์กร หน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ ภาคีพัฒนา และการมีส่วนร่วม

๒.การประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลกำนันผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. อสม. อภปร. กลุ่มออมทรัพย์ และองค์กรต่างๆ ในชุมชน ใช้ความเป็นพี่น้อง ยึดเอาผลประโยชน์ชาวตำบลเมืองฝ้ายเป็นที่ตั้ง

๓.การประกาศเจตนารมณ์และการให้คำมั่นที่จะดูแลกันทั้งตำบล ชาวตำบลเมืองฝ้ายได้ร่วมแรงแบ่งปันคือ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองฝ้ายขึ้น เพื่อประสานใจคน ๔ เผ่า

๔.ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้นำชุมชนจัดให้มีการสำรวจข้อมูลรายได้ครัวเรือนแล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำข้อมูลส่งไปที่แผนพัฒนาตำบล แล้วนำไปเสนอและ ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล หลังจากนั้นหน่วยงานราชการก็ยินดีให้การสนับสนุนและพร้อมจะทำงานร่วมกับภาคประชาชน

๕.ยึดถือในหลักความเชื่อซึ่งความเชื่อที่ว่า คือ ๕.๑)การเคารพธรรมชาติ หากการเคารพธรรมชาติหายไปจากชุมชนแล้ว เชื่อว่าชุมชนอาจเกิดปัญหาขึ้น เพราะชุมชนต้องอาศัยธรรมชาติและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

๕.๒)ต้องมีความรัก เคารพซึ่งกันและกัน เช่น เคารพผู้อาวุโสกว่า ๕.๓)ชุมชนต้องมีการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

๑.มีกลุ่มออมทรัพย์และเกิดการจัดสวัสดิการชุมชนขึ้นเมื่อในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ จากแนวคิดเงิน ๑ บาท ก็มีค่าเมื่อนำมารวมกัน ผลจากการดำเนินงานเป็นขั้นตอน ทำให้กองทุนเติบโตขึ้นตามลำดับ และได้รับการสมทบจากองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองฝ้าย ในปีที่ ๔ ของการจัดตั้งกองทุนปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จนถึงปัจจุบันมีเงินสมทบจากแหล่งอื่น

ๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐) จำนวนกว่า ๗ล้านบาท และมีการจัดสวัสดิการ ๑๑ ด้าน

๒.สวัสดิการชุมชน สอนให้เรารู้ว่าถึงจะต่างเผ่าพันธุ์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี ชุมชนเราจะเดินไปด้วยกัน ด้วยความมีวินัย สุจริต จิตอาสา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต 

๓.ชุมชนมีความกระตือรือร้นมากในการเก็บ การออม รู้จักประมาณตน รู้คุณค่าของวิถีพอเพียง เพราะเขารู้ว่าสวัสดิการชุมชนสามารถช่วยเหลือกันได้จริง ซึ่งเงินแค่วันละ ๑ บาท ก็สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้

๔.เกิดการหลอมรวมภูมิปัญญาที่หลากหลาย ชุมชนฟื้นฟู สร้างอำนาจที่จะผลักดันเพื่อจะนำไปพัฒนาแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เนื่องจากมีต้นทุนทางขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่เก่าแก่มาแต่โบราณ ถือได้ว่าเป็นทุนชีวิตของชุมชน มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไปสัมพันธ์กับการทำมาหากิน การดำรงชีวิตการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

๕.พลังของชุมชนมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากการทำเกษตรยั่งยืนพึ่งตนเอง การจัดสวัสดิการสังคม การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และปราชญ์ชาวบ้านร่วมสรรค์สร้างภูมิปัญญาใหม่ๆ


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

การส่งทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้านมาสู่คนรุ่นใหม่ ลูกหลานได้เรียนรู้และควรมีการสานต่อ วิถีวัฒนธรรม ประเพณีสืบต่อไป เป้าหมายคือสร้างต้นทุนชีวิต ต้นทุนชุมชน เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบองค์รวม คือภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเรื่องราวของชุมชนที่สอดคล้องและยั่งยืน เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่จะสืบทอดส่งต่อให้ลูกหลานสืบไป


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile