“โครงข่าย คลองใส
เชื่อมโยง คนพร้อม”
เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ เป็นชุมชนเมืองและตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลทางทิศใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี มักมีปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำท่วมครั้งใหญ่ติดต่อกันหลายปี จึงจุดประกายให้เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ คิดหาวิธีการที่จะบริหารจัดการน้ำ ให้สอดรับกับปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำล้นตลิ่ง เทศบาลจึงเล็งเห็นว่า การเปิดทางน้ำในคลองน้ำสาธารณะ จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำ กักเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง และระบายลงสู่แม่น้ำมูล ประกอบกับหากระบบท่อระบายน้ำ เป็นไปตามทิศทางการไหลของน้ำตามสภาพภูมิศาสตร์ จะทำให้โครงการระบบระบายน้ำเชื่อมโยงต่อเนื่อง ไม่กีดขวางหรือไหลย้อนกลับอย่างไม่มีทิศทาง เทศบาลจึงได้มีนโยบายการบริหารจัดการน้ำ แบบครบวงจร ภายใต้หลักการ “สี่ประสาน” ได้แก่โครงการ “โครงข่าย คลองใส เชื่อมโยง คนพร้อม”
เส้นทางความสำเร็จของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม๑.โครงข่าย คือ การก่อสร้างระบบระบายน้ำ ให้เป็นโครงข่ายที่เชื่อมประสานครอบคลุมทั้งตำบล เพื่อกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ รองรับความเจริญของชุมชน สอดคล้องกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
๒.คลองใส คือ โครงการขุดลอกและกำจัดวัชพืชในคลองน้ำสาธารณะในตำบล เพื่อเปิดทางน้ำและมีพื้นที่รองรับน้ำในฤดูฝน รวมถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ พัฒนาทัศนียภาพของคลองน้ำให้สะอาด สวยงาม
๓.เชื่อมโยง คือ การเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งจากลำน้ำมูลในฤดูน้ำหลาก โดยการเชื่อมโยงข้อมูลค่าระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ และการเกิดพายุต่างๆ จากศูนย์อุตุนิยมวิทยา, สถานีวัดระดับน้ำ M ๗ และระบบโทรมาตรเขื่อนปากมูล เพื่อเชื่อมโยงเป็นข้อมูลเฝ้าระวังน้ำ วิเคราะห์ความเสี่ยงของชุมชนริมตลิ่งและพื้นที่ข้างเคียง พร้อมกับการแจ้งข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมความพร้อมในการรับมือ
๔.คนพร้อม คือ การเตรียม“คน”เพื่อปฏิบัติภารกิจทั้งการเฝ้าระวังและการดำเนินการ “คน” ในที่นี้ หมายถึง ผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล พนักงานเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือ รวมถึงการสื่อสารออนไลน์เพื่อรับความช่วยเหลือตรงจุด
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
เกิดจากกระบวนการทำงาน “๔S + ๑U” ดังนี้ ๑)Super Data คือ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด คน ทรัพย์สิน งบประมาณ จุดอ่อน จุดแข็ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒)Super Planning คือ การวางแผนระบบระบายน้ำ ทิศทางของน้ำ ปริมาณน้ำในแต่ละปี รวมทั้งการประเมินสถานการณ์มวลน้ำที่อาจท่วมล้นตลิ่ง ๓)Super Support คือ การดูแล การบริหารจัดการ การสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากเทศบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ ๔)Super Evaluation การประเมินผล รวบรวมความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือหรือเยียวยาหลังการเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการประเมินผลกิจกรรม ๔ ประสานอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และสุดท้าย Unity Team คือ การมีทีม Work เป็นหนึ่งเดียวกัน ต้องมีกระบวนการสื่อสารที่ทรงพลังเข้าถึงมวลชนและประชาชนในพื้นที่ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้องครบถ้วน ทันท่วงที
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.การระบายน้ำขัง รวดเร็ว มีทิศทาง การคมนาคมสะดวก ปลอดภัย คลองสวย น้ำใส สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ลดความสูญเสียทั้งชีวิต
และทรัพย์สินของประชาชน
๒.ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนในรูปแบบ “คณะกรรมการพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชน” เกิดกระบวนการช่วยเหลือ “คนไทยไม่ทิ้งกัน”
๓.เป็นแบบอย่างที่ดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและครบวงจร จนสามารถลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี ๒๕๖๒ และไม่มีผู้เสียชีวิตในขณะเกิดภัย
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนจาก หลักการ “สี่ประสาน” ทำให้การระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีน้ำท่วมขัง คลองสวยน้ำใส ริมคลองน้ำปลูกต้นทองกวาว เป็นเอกลักษณ์ของตำบล สิ่งแวดล้อมดี มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ เก็บสถิติ ประมวลผล ติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมและนำสื่อสังคมออนไลน์มาส่งข้อมูลข่าวสาร แจ้งการเตือนภัยล่วงหน้าได้ทันท่วงที โดยมีคณะกรรมการพร้อมรับมือภัยพิบัติ เป็นต้นแบบและเป็นตัวอย่างที่ดีแห่งการช่วยเหลือชุมชน
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ : นางนภนรรณ ทองเรือง มือถือ ๐๘๕-๘๕๘๙๔๕๖ เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ จังหวัดอุบลราชธานี
แสดงความคิดเห็น