กว่าจะมาเป็นวันนี้
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอู่ตะเภา เกิดจากคำแนะนำจากทีมกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดชัยนาท และผู้บริหารท้องถิ่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดประชุมผู้นำและแกนนำชุมชนทั้ง ๕ หมู่บ้าน ได้ประชุมปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ ประโยชน์ที่คนในชุมชนจะได้รับ ผู้นำชุมชนมีความเห็นตรงกันว่า เป็นกิจกรรมที่ดี ทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงได้มีมติจัดตั้งเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ และประกาศใช้ระเบียบข้อบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยคณะกรรมการกองทุนชุดแรกได้ออกประชาสัมพันธ์ กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนที่สนใจ เริ่มดำเนินการรับสมัครสมาชิก มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรก ๑๐๒ คน ครอบคลุมทั้งตำบล เงินทุนแรกตั้ง ๑๕,๐๐๐ บาท สวัสดิการแรกเริ่ม มี ๓ ด้าน เรื่อง คลอดบุตร , นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิต
เส้นทางสู่ความสำเร็จ
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอู่ตะเภา มีสมาชิกปัจจุบัน ๕๑๘ คน เป็นกองทุนที่มาจากขบวนการของชุมชนในการพัฒนาขยายผลการจัดระบบสวัสดิการชุมชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลอู่ตะเภา รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการพัฒนาความมั่นคงในชีวิตและการพึ่งตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดสวัสดิการ ตลอดจนช่วยส่งเสริมความร่วมมือของชุมชน โดยสร้างระบบโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม และรองรับคนในชุมชนทุกช่วงวัยรวมทั้งคนจนและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่เป็นสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในชุมชน รวมถึงกิจการทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในรูปของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย ปัจจุบันมีการจัดสวัสดิการ ทั้งหมด ๑๑ ประเภท
๑.สวัสดิการการเกิด
๒.สวัสดิการการเจ็บป่วย
๓.สวัสดิการการเสียชีวิต
๔.สวัสดิการผู้สูงอายุ
๕.สวัสดิการการศึกษา
๖.สวัสดิการผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ ซ่อม/สร้างบ้าน(สนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท งบ พอช./งบ พมจ.)
๗.สวัสดิการด้านภัยพิบัติต่างๆ
๘.สนับสนุนกิจกรรมต่างๆในตำบล
๙.สนับสนุนชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน
๑๐.สนับสนุนกิจกรรมกลุ่มอาชีพในตำบลอู่ตะเภา
๑๑.สนับสนุนกิจกรรมของชมรม กลุ่ม องค์กร ในการดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙)
ความท้าทาย
สวัสดิการขั้นพื้นฐานครบถ้วนทุกกลุ่มวัย แต่มีผลต่อความเสี่ยงของกองทุน ที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินงานโดยผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ เพียงช่องทางเดียว จึงทำให้มีผลต่อการขยายจำนวนของสมาชิกได้น้อย ส่วนด้านการติดตามผล ทางคณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบมีความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่การเงินจึงไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง มีความคิดที่จะขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์งานของกองทุนฯ โดยเพิ่มคณะทำงานด้านการสื่อสารในกลุ่มผู้นำเยาวชน ( สภาเด็ก ), กลุ่มผู้นำ อสม., และกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการทำงาน และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบของแผ่นบันทึกเสียงเพื่อเปิดเสียงตามสายทุกหมู่บ้าน และจัดประชุมประชาคมทุกเดือน เพื่อขยายฐานสมาชิกไปยังกลุ่มวัยแรงงานให้มากขึ้น
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑. พอเพียง ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ ใช้นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบล ส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชน มีกลุ่มที่เป็นกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน
๒. วินัย การเก็บรักษาเงินของกองทุนฯ มีความโปร่งใสและชัดเจน สามารถตรวจสอบได้
๓. สุจริต กองทุนฯ จัดทำฐานข้อมูล ๒ ระบบ พร้อมให้หน่วยงานและสมาชิกตรวจสอบได้ ประกอบด้วย ระบบฐานข้อมูลสมาชิกในแฟ้มเอกสาร และลงทะเบียนในระบบคอมพิวเตอร์ระบบลงบัญชีรายรับรายจ่าย ลงข้อมูลในสมุดบัญชี และระบบโปรแกรมของกองทุนฯ
๔. จิตอาสา มีการส่งเสริมกระบวนการจิตอาสา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ จิตสำนึกอันดีงาม มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
๕. ความรับผิดชอบ มีแนวทางการบริหารจัดการมุ่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานบริการการปฏิบัติงานของบุคลากรและหน่วยงานให้บริการด้านสวัสดิการชุมชน โดยเฉพาะการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
- สนับสนุนการจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลอู่ตะเภา รองรับสังคมผู้สูงอายุ รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น เน้นการดูแลสุขภาพ การสร้างอาชีพ
- การสนับสนุนสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุเป้าหมายอาทิ การเยี่ยมบ้าน การตรวจสุขภาพ การมอบชุดเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับบ้านให้เหมาะสมกับที่อยู่อาศัย
- สร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน อาทิ ครอบครัวมีสัมมาอาชีพ รายได้ต่อการดำรงชีพ ไม่มีความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
ข้อมูลการติดต่อ
นายพิษณุพล ช่างประดับ ประธานกองทุน ๐๙๔-๙๙๖๖๙๘๙
แสดงความคิดเห็น