community image

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตำบลดอกคำใต้

อ.ดอกคำใต้ ต.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 1 คน
cover

“ฟื้นฟูวัฒนธรรม

นำสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอกคำใต้ เกิดจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ด้วยความสมัครใจ โดยเป้าหมายสูงสุด คือ การดูแล เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ทุกเพศทุกวัย ชนชั้นอาชีพ และอายุ แรกเริ่มก่อตั้งนั้นจำนวนสมาชิกมีเพียง ๓๒๐ คน ต่อมาจึงเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิม ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุน จำนวนทั้งสิ้น ๑,๖๒๘ คน


สร้างเสริมคุณธรรมผ่านกองทุนสวัสดิการ

การบริหารงานกองทุนใช้รูปแบบคณะกรรมการ จำนวน ๒๔ คน ที่ปรึกษา ๖ คน มีการประชุมสามัญประจำปีๆ ละ ๑ ครั้ง 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอกคำใต้ ได้ขยายความช่วยเหลือไปสู่ผู้ด้อยโอกาสที่ขาดคนดูแลอีกด้วย มีการพัฒนาการจัดการทุนในชุมชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนำประเพณีตานต้อด ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่เกือบสูญหายไปแล้ว มาใช้ในการแก้ไขปัญหา และถือเป็นการฟื้นฟูประเพณีดังกล่าวไปในตัว ตานต้อด นั้นนับว่าเป็นประเพณีที่เปรียบเสมือนการให้ทาน แสดงให้เห็นถึงความเผื่อแผ่ เอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชาวบ้านในหมู่บ้าน คนที่มีจะแบ่งบันให้แก่คนคนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสโดยไม่หวังผลตอบแทน


ฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในตำบลดอกคำใต้ ด้วยประเพณีตานต้อด เริ่มขึ้น ประมาณปี 2556 โดยการประสานความร่วมมือ สร้างเครือข่ายต่างๆ ทั้งในและนอกตำบล ใช้การรับบริจาคจากชาวบ้านในพื้นที่และผู้ใจบุญที่ทราบข่าว เช่น ใช้รถจักรยานปั่นรับบริจาครอบบริเวณตำบล ตั้งกองผ้าป่าในตลาดสด เช้า เย็น การประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในหมู่บ้าน

ผลลัพธ์จากประเพณีตานต้อดในเชิงปริมาณ ผู้ด้อยโอกาสในตำบลดอกคำใต้ ได้รับความช่วยเหลือ ๒๗ คน เชิงคุณภาพ เกิดความร่วมมือทำงานจากเครือข่ายต่างๆ


ต่อยอดทุนวัฒนธรรม เพื่อสร้างอนาคตอย่างมีคุณธรรม

จากความผลสำเร็จที่กล่าวไปข้างต้น คณะกรรมการและกองทุนสวัสดิการ มีมติให้ทำการศึกษาค้นหาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในตำบล เพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือสวัสดิการให้กับประชาชนตำบลดอกคำใต้ โดยสร้างความร่วมมือกับ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ทำให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและความเชื่อมโยงอื่นๆ คือ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอกคำใต้ กับเครือข่ายความร่วมมือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สภาวัฒนธรรม เด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วยวิธีการต่างๆ ประกอบด้วย

·      ฐานข้อมูลประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

·      สื่อประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม

·      กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

·      การมีส่วนร่วมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม

·      สร้างรายได้ชุมชนบนฐานวัฒนธรรม


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมส่งผลให้ชุมชนดอกคำใต้เกิดความเข้มแข็ง และมีการต่อยอดสู่วิถีชีวิตมิติอื่นๆ ดังนี้

๑)ประเพณีสำคัญ ได้แก่ ประเพณีตานต้อด ประเพณีตานน้ำหม้อ ประเพณีก๊างข้าวแฮก ได้มีการฟื้นฟูกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

๒)วิถีชีวิต สามารถพัฒนาต่อยอดข้อมูลในงานวิจัย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม

๓)เกิดความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลดอกคำใต้ สภาวัฒนธรรมตำบลดอกคำใต้และมหาวิทยาลัยพะเยาจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ให้คนทั่วไป


การฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของกองทุนสวัสดิการชุมชน สรุปได้ ดังนี้ 

ด้านผลผลิต มีฐานข้อมูลประเพณีวัฒนธรรมตำบลดอกคำใต้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเพณี ๑๔ แหล่งเรียนรู้ ๕ วัด ๕ พระ สื่อวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ด้านผลลัพธ์ ชุมชนเกิดความสามัคคีเอื้ออาทรการมีส่วนร่วมกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรม เกิดกระบวนการพัฒนาเครือข่าย 

ด้านผลกระทบ ภาพลักษณ์ของตำบลดอกคำใต้ เป็นชุมชนต้นแบบการนำคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมมาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถสร้างรายได้จากการใช้คุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น

ผู้ประสานงานในพื้นที่ :

นายสุรสิทธิ์ ป้อมภา ตำแหน่ง 

ที่ปรึกษากองทุน โทร ๐๙๓ ๒๔๐ ๘๒๔๖ 


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายสุรสิทธิ์ ป้อมภา ตำแหน่ง ที่ปรึกษากองทุน ๐๙๓ ๒๔๐ ๘๒๔๖

แสดงความคิดเห็น

profile