กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดง ก่อตั้งเมื่อ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ มีจำนวนสมาชิกแรกตั้ง ๕๐ คน สมาชิกสะสมถึงปัจจุบัน ๗๒๖ คน จากจำนวนประชากรในตำบล ๔,๖๕๓ คน จำนวนเงินกองทุนสวัสดิการ ณ วันเริ่มแรก ๑,๙๒๕ บาท จำนวนเงินกองทุนสวัสดิการสะสมถึง สองล้านเจ็ดแสนกว่าบาท (วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดงมีการสัญจรค่อนข้างลำบากเนื่องจากถนนส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง อยู่ห่างจากตัวอำเภอ ๓๐ กิโลเมตร ฉะนั้นกองทุนฯ จึงมีแนวคิดที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนสร้างงานสร้างอาชีพที่หลากหลาย ประชาชนมีรายได้มีงานทำตลอดปี ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ การเกษตรใช้น้ำฝนเป็นหลัก
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การที่มีกองทุนสวัสดิการชุมชน ประธานและคณะกรรมการกองทุนได้มีการประสานภาคีเครือข่ายการทำงานมาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงกองทุนฯ กับกลุ่มองค์กรในชุมชน นำเงินของกองทุนฯ ฝากกับวิสาหกิจชุมชน ธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริบ้านหน่วยประคอง และคณะกรรมการส่วนหนึ่งของกองทุนฯ ได้เป็นคณะกรรมการของวิสาหกิจชุมชนธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริบ้านหน่วยประคอง และให้วิสาหกิจชุมชน ธนาคารชุมชน เป็นตัวขับเคลื่อนในการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก โดยการสนับสนุนการเจาะบ่อบาดาลเพื่อทำการเกษตรนอกฤดู ส่งเสริมการเกษตรแบบระบบน้ำหยดเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และฮอร์โมนไข่ เพื่อการเกษตร ทำให้สมาชิกลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดง นอกจากจะดูแลคุณภาพชีวิตของสมาชิกจัดสวัสดิการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับกองทุนทั่วไปแล้ว กองทุนยังส่งเสริมด้านอาชีพด้านการเกษตรด้วย โดยประธานและกรรมการบางส่วนจะทดลองทำก่อน เมื่อได้ผลจะได้ขยายผลไปยังระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด ตามลำดับจนกระทั่งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาดูงาน
เครือข่ายความร่วมมือการดำเนินงาน
สู่การสร้างชุมชนคุณธรรม
เครือข่ายที่ให้ความร่วมมือกับทางกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นมีหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ
๑.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองม่วง สนับสนุนงบประมาณและการให้คำปรึกษาการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
๒.สำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วงให้ความรู้เรื่องการทำการเกษตรแก่สมาชิกของกองทุนสวัสดิการ
๓.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดอบรมการสร้างรายได้การสร้างอาชีพ
๔.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สนับสนุนงบประมาณและให้ความรู้ในเรื่องการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการฯ
๕.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดลพบุรี ช่วยเหลือดูแลการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ
๖.สาธารณสุขให้ความรู้เรื่องสุขภาพของสมาชิก การคัดกรองโรค
๗.สโมสรโรตารี่สนับสนุนอุปกรณ์การสร้างอาชีพ
๘.ปศุสัตว์ให้ความรู้กับสมาชิกเรื่องการเลี้ยงสัตว์
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
: หนี้สินหมด ชีวิตเปลี่ยน
การขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เน้นการออม การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และหนี้นอกระบบของชุมชนตำบลดงดินแดง ได้ใช้ความพยายามของผู้นำและสมาชิก ซึ่งได้รับการหนุนเสริมจากเครือข่ายภายนอก โดยยึดถึงหลักคุณธรรมความพอเพียง และความมีวินัย ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สมกับชื่อหมู่บ้านหน่วยประคอง จนทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
๑.สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่เป็นหนี้นอกระบบ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ เพราะสมาชิกออมเงินกับกองทุนสวัสดิการชุมชนและวิสาหกิจธนาคารหมู่บ้าน
๒.กองทุนใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางในการปฏิบัติ นำสู่อาชีพดี ชีวิตมีคุณภาพ จึงทำให้กองทุนสวัสดิการนั้นยังคงอยู่กับสมาชิกตลอดไปได้
๓.เกิดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจการในประกอบอาชีพ ทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่มอาชีพ และชุมชน มีผลผลิตการเกษตรดีขึ้นเนื่องจากมีการทำระบบน้ำหยด ส่งผลให้มีรายได้และมีกำไรเพิ่มขึ้น
๔.คนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธา เข้าร่วมกับกองทุนสวัสดิการมากขึ้น
๕.สมาชิกกองทุนได้รับความรับความช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสมาชิกทุกครัวเรือนมีอาชีพมีรายได้มีงานทำกันทุกครัวเรือน
ผู้ติดต่อประสานงานในพื้นที่ :
นางสุทิน แย้มครวญ เหรัญญิกกองทุน
เบอร์โทรศัพท์ : ๐๘๔-๗๑๙-๔๕๗๘
แสดงความคิดเห็น