“คนตำบลริมกกมีสวัสดิการดี
เชื่อมร้อยภาคีอย่างบูรณาการ”
กองทุนสวัสดิการตำบลริมกก ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยกลุ่มตัวแทนจาก ๗ หมู่บ้าน ตามคำแนะนำของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดสวัสดิการให้ประชาชนในตำบล ได้ดำเนินการจนได้รับการรับรองเป็นองค์สวัสดิการชุมชนตำบลริมกก ทะเบียนเลขที่ ๓๕๓/๒๕๕๗ ออก ณ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ช่วงแรกของการดำเนินงานพบว่า การจัดการด้านสวัสดิการตามลำพังไม่สามารถชักชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกได้เท่าไรนัก จึงได้คิดค้นวิธีการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงาน กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกของกลุ่มและประชาชนในตำบล ปัจจุบันมีคณะกรรมการครบทุกหมู่บ้าน โดยการคัดเลือกจากผู้แทนของแต่ละหมู่บ้านเอง
กระบวนการขับชุมชนเคลื่อนคุณธรรม
ปี ๒๕๕๖ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลริมกก มีความคิดเห็นว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนควรมีที่ทำการเป็นหลักแหล่งที่สมาชิกสามารถติดต่อประสานงาน และมารับบริการได้สะดวกซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกและประชากรในพื้นที่ เกิดความเชื่อถือเข้ามาร่วมกระบวนการเพิ่มขึ้นโดยง่าย จึงได้ประสานความร่วมมือขอใช้สถานที่ทำการร่วมกับสถาบันการเงินชุมชนฟาร์มสัมพันธกิจ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ก่อตั้งโดยกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้บริการรับฝาก/ถอนเงินให้กับสมาชิกชุมชนในพื้นที่ตำบลริมกก
นอกเหนือจากการให้บริการแก่สมาชิก ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สนใจ เข้าศึกษาดูงานเกี่ยวกับงานด้านกองทุนสวัสดิการ ทั้งนี้เป็นการให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
บูรณาการงานอย่างมีคุณธรรม
แนวคิดหลักการในการจัดทำกองทุนสวัสดิการชุมชนของคณะกรรมการ คือ ให้ประชาชนในตำบลมีโอกาสเข้าถึงและได้รับสวัสดิการโดยเท่าเทียมกัน จึงร่วมกันคิดหาวิธีฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันของประชากรในตำบลริมกก โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นสื่อในการส่งความเอื้ออาทรกัน จึงมีวิธีการเชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย ดังนี้
๑)เชื่อมประสานกับสถาบันการเงินชุมชนฟาร์มสัมพันธกิจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการเกิดความสะดวกสบาย และความน่าเชื่อถือ
๒)เชื่อมประสานกับเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลริมกก เพื่อให้มีการเชื่อมโยงให้ความรู้แนวคิดการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก และเป็นวิธีขยายจำนวนสมาชิกได้ดี
๓)เชื่อมประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลริมกก ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเรื่องการประชาสัมพันธ์ การใช้สถานที่จัดกิจกรรม การให้ใช้เวทีประชาคม
๔.การเชื่อมประสานส่วนราชการและเครือข่ายฯ เป็นเพื่อนร่วมกระบวนการ ร่วมอุดมการณ์ที่คอยให้คำแนะนำ ร่วมคิดร่วมทำ
๕.เชื่อมประสานกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อบำนาญเป็นสวัสดิการที่กองทุนสวัสดิการชุมชนเห็นความสำคัญ มีการอบรมความรู้พร้อมบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเป็นตัวแทนรับสมัครสมาชิกและรับเงินออมของสมาชิกส่งให้ธนาคารภาคี
๖.เชื่อมประสานกับร้านค้าสวัสดิการชุมชน เป็นหนึ่งในภาคีการทำงานแบบเชื่อมโยงกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่เป็นสมาชิกของสถาบันการเงินชุมชนในการสะสมยอดขายเพื่อคืนกำไร
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากผลการทำเดินงานที่ผ่านมา พบว่า มีการเพิ่มของสมาชิกกองทุนอย่างเหมาะสม เนื่องจากสมาชิกที่ได้รับประโยชน์ได้มีการบอกเล่ากันปากต่อปาก อีกทั้งเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านได้มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์อีกด้านหนึ่ง โดยได้นำนโยบายการร่วมมือกันด้านสวัสดิการไปชี้แจงให้กับสมาชิกของแต่ละหมู่บ้าน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รู้ลึก รู้จริงถึงสถานการณ์และสภาพปัญหาของพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการอาศัยศักยภาพของเครือข่ายในพื้นที่ มาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในการกำหนดและสร้างอนาคตร่วมกัน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลริมกกจึงได้บูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้ประชาชนในตำบลมีโอกาสเข้าถึงและได้รับสวัสดิการโดยเท่าเทียม เป็นการสร้างระบบหลักประกันความมั่นคงของชีวิต นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในตำบล และฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในตำบลให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลเอื้ออาทรกัน
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางสุมาลี ปัญญาอมรวัฒน์
ตำแหน่ง ประธานกองทุน
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๙-๗๐๑๘๒๐๖
แสดงความคิดเห็น