“เทศบาลตำบลโคกม่วง
แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”
ประชาชนส่วนใหญ่ของเทศบาลตำบลโคกม่วง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา แต่จากวิกฤตเศรษฐกิจ หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจึงเกิดความเครียดจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ต่อกันของสมาชิกในครอบครัว กลายเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เทศบาลตำบลโคกม่วงร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนตำบลโคกม่วง (ศพค.) มีหน้าที่ดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัวในมิติต่างๆ
จุดเด่นคือการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ตามทฤษฎีหลักวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA) และมีกลุ่มภาคีเครือข่ายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ดังนี้
๑.วางแผนแนวทางดำเนินงาน (P) เทศบาลตำบลโคกม่วงและ ศพค. ตำบลโคกม่วง ร่วมวางแผนการดำเนินงานโดยจัดลำดับความสำคัญตามปัญหาเร่งด่วน และได้เสนอแผนงานขอรับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลโคกม่วง และแหล่งทุนอื่นๆ เพื่อวางแผนดำเนินงานประจำปี
๒.ดำเนินการตามแผนงาน (D) ขั้นที่ หนึ่ง คือการเฝ้าระวังและปฏิบัติการ โดยจะแบ่งหน้าที่เป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ (๑) ฝ่ายเฝ้าระวัง มีหน้าที่ให้คำปรึกษา สร้างความไว้วางใจ เฝ้าระวัง รวมทั้งแจ้งเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น และ (๒) ฝ่ายปฏิบัติการ มีหน้าที่ช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ย ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขั้นที่สอง คือการป้องกัน โดยการจัดโครงการกิจกรรม เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เน้นการให้ความรู้ การทำกิจกรรมร่วมกันพ่อ ลูก แม่ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ขั้นที่สาม คือการแก้ไขเยียวยา โดยประสานของบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และส่งเสริมอาชีพ ให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้
๓.ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล (C) แบ่งออกเป็นผลระยะสั้น โดยการใช้แบบสอบถามหลังดำเนินโครงการกิจกรรมและผลที่เกิดขึ้นระยะยาว โดยร่วมกันสังเกตพฤติกรรมความเปลี่ยนแปลง การดำรงชีวิตของผู้เข้าร่วมโครงการกิจกรรม
๔.นำผลการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลไปวางแผนปรับปรุงการดำเนินงาน (A) เพื่อให้ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อไป
ผลลัพธ์และความสำเร็จ
พบว่าสัมพันธภาพของครอบครัวต่างๆ ในชุมชนมีแนวโน้มดีขึ้น อบอุ่นขึ้น อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกของสมาชิก อันสื่อแสดงให้เห็นคุณธรรม ดังนี้
๑. พอเพียง ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ดำเนินชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
๒. วินัย ทุกคนในบ้านมีส่วนร่วมในการวางแผนกำหนดบทบาทของสมาชิกในครอบครัว ให้การปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป
๓. สุจริต เกิดดความเชื่อใจ ไว้ใจของคนในครอบครัว เพราะความไว้วางใจซึ่งกันและกัน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้การอยู่ร่วมกันในบ้านมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย อบอุ่นใจ
๔.จิตอาสา คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันในและนอกชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๕.กตัญญูรู้คุณ เกิดความรักและความต้องการให้คนอื่นมีความสุข ทุกคนในครอบครัวต่างปรารถนาดีต่อกัน สนับสนุนกันในทางที่ดี จึงทำให้ครอบครัวงอกงามทั้งทางสถานภาพและจิตใจของคนในครอบครัว
การวางแนวทางที่ยั่งยืน
เทศบาลตำบลโคกม่วงได้ร่วมชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแก่หน่วยงานภาครัฐ และศพค.ทั่วประเทศในงาน ประชารัฐร่วมใจครอบครัวไทยเข้มแข็ง และได้วางแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของโครงการนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยบรรจุโครงการ/กิจกรรมไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕ อีกด้วย
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
พันจ่าตรี เจนวาที เพชรรักษ์
ปลัดเทศบาลตำบลโคกม่วง
โทรศัพท์ ๐๗๔ ๖๗๕ ๑๔๖
E-mail: janewathee@gmail.com
แสดงความคิดเห็น