community image

เทศบาลตำบลบางเลน

อ.บางเลน ต.บางเลน จ.นครปฐม
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

เชื่อมโยงเครือข่ายอย่างมีศิลปะ ขับเคลื่อนงานด้วยใจมุ่งมั่น พัฒนาอย่างต่อเนื่อง


เทศบาลตำบลบางเลน แบ่งการบริหารเป็น ๑๕ ชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน เป็นงานที่ต่อยอดมาจากชมรมผู้สูงอายุของตำบลบางเลน จัดตั้งเมื่อปี ๒๕๕๒ เริ่มต้นจากตัวกรรมการชมรมผู้สูงอายุมีผู้สมัครเป็นสมาชิก ๓๓ คนและเลือกตั้งกรรมการขึ้นมาบริหาร ๒๗ คน โดยเชิญเจ้าของร้านทองเข้ามาเป็นประธานกองทุน มีเงินทุนเริ่มต้น ๑๑,๘๒๐ บาท จากนั้นได้รับการจดแจ้งจากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ รับรองเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชน ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ จึงได้ใช้ใบจดแจ้งเป็นใบเบิกทางขยายฐานสมาชิกให้มีจำนวนมากขึ้น

ช่วงแรกคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พยายามหาสมาชิกเพิ่มเติม พบว่าชาวบ้านปฏิเสธ เพราะเกิดความล้มเหลวในการดำเนินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ คณะ กรรมการจึงยึดหลักการสำคัญ คือ “บอกให้เขารู้” สื่อสารให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสวัสดิการชุมชน “ทำให้เขาเห็น” ถือเป็นหัวใจว่าการเข้าเป็นสมาชิกนั้นจะได้รับสวัสดิการอย่างไรบ้าง “ขจัดปัญหา” เมื่อมีปัญหาประธานและกรรมการรีบลงแก้ไขทันที “สร้างศรัทธา” ให้สมาชิกเกิดความรู้สึกว่า “เราทำได้จริงและได้หลายเท่าด้วย”

กรณีผู้สูงอายุสมัครเป็นสมาชิก กองทุนตั้งเงื่อนไขว่า อายุ ๖๐ ปี ขึ้นไปจะสมัครเข้ากองทุนต้องหาลูกหลานที่มีอายุไม่มากมาเข้าด้วย ไม่น้อยกว่า ๑ คน อายุ ๗๐-๘๐ ปี ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน หากหาไม่ได้จริงๆ กองทุนก็รับเป็นสมาชิก ปัจจุบันกองทุนมีสมาชิก ๑,๗๐๒ คน เงินทุนหมุนเวียน ๕,๖๙๔,๖๒๗ บาท แบ่งเป็นเงินสมทบจากสมาชิก เงินสมทบจากท้องถิ่น เงินสมทบจากหน่วยงานรัฐ ดอกเบี้ย เงินบริจาคและอื่นๆ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางเลน แบ่งเงินออกเป็น ๕ ส่วน คือ เงินคงคลังของกองทุน เงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เงินสำหรับใช้จ่าย บริหารจัดการ จัดสวัสดิการให้สมาชิก จัดเป็นทุนการศึกษาให้กับสมาชิกที่เป็นนักเรียนนักศึกษา และเงินกองทุนสำหรับจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ โดยเงินทั้ง ๕ส่วน จะนำมาจัดสรรใหม่ทุกสิ้นปี


ความเหมือนที่แตกต่าง “สวัสดิการใช้เงินเป็นตัวตั้ง” & “สวัสดิการใช้เงินเป็นเครื่องมือ”

มีการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สมาชิกต้องการ “ใช้เงินเป็นตัวตั้ง” เช่น รับขวัญเด็กแรกเกิด การเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษา ผู้สูงอายุยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสยากไร้ ศาสนา วัฒนธรรมและวันสำคัญต่างๆ

สวัสดิการที่จัดเพื่อช่วยเหลือสมาชิกและชุมชน “ใช้เงินเป็นเครื่องมือ” เช่น ฝึกอบรมอาชีพ สอนเสริมให้นักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จัดถุงยังชีพ เสื้อผ้า แก้ปัญหาน้ำดื่มราคาแพง


การเชื่อมโยง/บูรณาการระหว่างองค์กร “ภายใน” เขตเทศบาลตำบลบางเลน

มีการเชิญผู้นำชุมชน/กลุ่มองค์กรผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นกรรมการบริหาร เป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากร ตรวจรักษา เยี่ยมผู้ป่วย มอบสิ่งของ ร่วมกิจกรรมต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม มีการแบ่งงานกัน อาทิ คณะกรรมการเป็นที่ปรึกษาหาสมาชิกเข้ากองทุน วิทยากรให้ความรู้ด้านสุขภาพ ประชาชนร่วมบริจาคเงินให้กองทุนฯ ให้คำปรึกษาการเรียกร้องสิทธิสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน กิจกรรมออกกำลังกาย “รำไม้พลอง”


การเชื่อมโยง/บูรณาการระหว่างองค์กร “ภายนอก”เขตเทศบาลตำบลบางเลน ๕หน่วยงาน

มีการส่งเอกสารหลักฐานการจัดตั้งกองทุนฯ การจัดทำกิจกรรม เป็นประจำปีละ ๒ ครั้ง แต่ละหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ร่วมถอดบทเรียนการทำงานเป็นชุดความรู้ การทำงานสวัสดิการชุมชนเผยแพร่สู่สาธารณะ การเชื่อมโยงภายนอกส่งผลให้เกิดความสำเร็จ เช่น ได้รับการจดแจ้งจัดตั้งเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชน วิทยากรนำคำบรรยายจัดทำเป็นเอกสารเรื่องเล่าจาก“ลุงสมควร” ไปเผยแพร่ทำให้ชื่อเสียงของกองทุนเป็นที่รู้จัก จึงมีกองทุนจากต่างจังหวัดไกลๆมาขอศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๑๕ องค์กร


รูปธรรมความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก เกิดผลด้านเศรษฐกิจและสังคม

๑)การเชื่อมโยง/บูรณาการกับองค์กรทั้งภายใน ภายนอกเขตเทศบาล เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ทำ “โดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน” โดยมีความหลากหลายของคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ระบบบริหารจัดการมีการบริหารจัดการอย่างมีระบบมีการสรุปผลการทำงาน มีการรายงานผล มีความโปร่งใสได้รับการตรวจสอบจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทุกปี

๒)การจัดสวัสดิการ มองแบบองค์รวม เกิดผลที่เห็นชัดเจนใน ๒ ด้าน

ด้านเศรษฐกิจ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนและประชาชน ลดรายจ่ายจากตู้น้ำหยอดเหรียญ ลดลงลิตรละ 50 สตางค์

ด้านสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประชากรในเขตเทศบาลตำบลบางเลน ร้อยละ ๔๗ เป็นคนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ พอมีกองทุนฯ และได้เข้ามาเป็นสมาชิก สามารถความเหลื่อมล้ำได้ราวร้อยละ ๒๗ ของจำนวนผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการ


ปัจจัย 5 ประการ สร้างความสำเร็จจากการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชน

๑)มีการนำขับเคลื่อนที่มีจิตใจที่มุ่งมั่น เกาะติด ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค

๒)มีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม มีบทบาทที่เหมาะสม 

๓)การเชื่อมโยงกับทาง อปท. อย่างมีศิลปะ เข้าใจในงานของ อปท. ทำงานอยู่บนความต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน

๔)มียุทธศิลป์ในการทำงาน เห็นได้จากกิจกรรมที่กรรมการบริหารกองทุนได้ทำในหลายเรื่อง

๕)มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้ทั้งจากวิทยากร และการดูงานจากกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งอื่น และมีการนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ในส่วนของแผนงานที่จะดำเนินการในปี ๒๕๖๑ สรุปข้อเสนอของสมาชิกในที่ประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดกิจกรรมดังนี้

         ๑.ให้ตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ

         ๒.ให้อบรมวิชาชีพผู้สูงอายุ

         ๓.ให้ช่วยกันหาสมาชิกเพิ่มให้กองทุน โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ ๒๐๐ คน

         ๔.คณะกรรมการขอสมาชิกกองทุนฯ ให้คณะกรรมการกองทุนได้พัฒนาศักยภาพแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกองทุนอื่น


ผู้ประสานติดต่อพื้นที่ :        

นายสมควร รวยเรืองรุ่ง เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางเลน

๑/๘ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๕-๒๖๓-๐๙๔๖

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายสมควร รวยเรืองรุ่ง ๐๘๕-๒๖๓-๐๙๔๖

แสดงความคิดเห็น

profile