“คนห้วยไผ่อยู่ดีมีสุข แหล่งน้ำดี มีผลผลิตปลอดภัยได้มาตรฐาน ปลอดหนี้สิน
เคียงคู่วัฒนธรรมไท-ยวน”
ตำบลห้วยไผ่ เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เมื่อสมัยรัชกาลที่๓ ได้มีเจ้าตระกูลหนึ่งที่มีรกรากมาจากอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้อพยพพวกพ้องย้ายถิ่นลงมา เนื่องจากเกิดความแตกแยก ขาดสามัคคีกันในหมู่คณะ พวกหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ต่อมาเรียกว่าไทยพายัพ อีกส่วนมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพ แต่ถูกทางราชการให้โยกย้ายไปเมืองราชราบุรี เนื่องจากเห็นว่าขณะนั้นราชบุรีมีพลเมืองน้อย จึงตั้งถิ่นฐานกันตามฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และต่อมาก็ขยับขยายไปท้องที่อื่นๆ จนถึงบริเวณบ้านห้วยไผ่ ซึ่งมีกอไผ่อยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ปลูกบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดห้วยไผ่ มีลำห้วยไหลผ่านหลังวัด อาชีพหลักของประชาชนคือการทำนา ทำไร่ ปลูกผักและหัตถกรรม
ในการพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนห้วยไผ่นั้น เริ่มจากการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนและเพื่อคนในชุมชน ประกอบด้วย ตัวแทนของสถาบันในชุมชน วัด โรงเรียน สถานีอนามัย ตัวแทนของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโรงสีรวม กลุ่มอนุรักษ์ป่า เป็นต้น โดยมีผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ภูมิปัญญา และผู้นำทางการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมเวทีพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน เป็นระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีต
เมื่อสภาพบริบทของสังคมเปลี่ยนไป ชุมชนเริ่มมีปัญหามากขึ้น ชุมชนจึงหยิบยกปัญหามาพูดคุยเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข โดยปัญหาที่อยากแก้ แบ่งเป็น
ด้านเศรษฐกิจ : ปัญหาการมีรายได้น้อย หนี้สิน ความยากจน ขาดเงินลงทุนและแหล่งเงินทุน
ด้านสังคม : ปัญหายาเสพติด อุบัติเหตุการจราจร ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม สาธารณภัย
ด้านสิ่งแวดล้อม : ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพังทลายของดินริมคลอง การบุกรุกและถือครองที่ดินสาธารณะของประชาชน การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานและฟาร์มสุกร
ทุนที่ตำบลมี คือ ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านภูมิปัญญาสู่ขวัญนาค ทอผ้าตีนจก ทำขนมไทยพื้นบ้าน อยู่อาศัยกันอย่างพี่น้องในระบบครอบครัวใหญ่ การมีส่วนร่วมของชุมชนยังมีอยู่มาก และมีวัฒนธรรมไท-ยวน เนื่องจากคนท้องถิ่นเป็นไท-ยวน ร้อยละ ๘๐
กระบวนการพัฒนา
มีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้มแข็ง เพิ่มช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน และสนับสนุนให้เกิดอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้
ส่งเสริมด้านการศึกษา ทั้งการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เสริมคุณภาพการศึกษาของประชาชน บุคคลวัยทำงานและเด็กวัยเรียนให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ส่งเสริมด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันบุคคล ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และท้องถิ่น เฝ้าระวังการเสพการค้า ให้ความรู้แก่นักเรียนและเยาวชน การมีส่วนร่วมและประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน
ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาศักยภาพของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ในการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เนื่องจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมและสนับสนุนอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมประเพณีไท-ยวน เพื่อรักษาองค์ความรู้ภูมปัญญาท้องถิ่น
เส้นทางสู่ความสำเร็จก่อนมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑. ความเข้าใจในเป้าหมายที่ชัดเจนและใช้ในการทำงานร่วมกัน
๒. ความซื่อสัตย์และความโปร่งใสขององค์กร ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารไปยังผู้รับประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อถือให้เกิดตามมา
๓. การมองไปในระยะยาว ถึงการรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานที่ดีขององค์กร
๔. การประสานการทำงานกับเครือข่ายเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
โครงการบ้านพอเพียงจังหวัดราชบุรี เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากจน ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ในปี ๒๕๖๑ ได้อนุมัติแผนการดำเนินการช่วยเหลือ ๕๒๐ ครัวเรือน งบประมาณ ๑๑ ล้านบาท ตำบลห้วยไผ่เป็น ๑ใน ๑๔ ตำบลที่ได้รับการสนับสนุนโครงการในครั้งนี้
สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยไผ่ เกิดการบูรณาการกลไกการทำงานร่วมของกลุ่ม องค์กรต่างๆ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของผู้เดือดร้อนกับเครือข่ายกลุ่มองค์กรชุมชนในตำบล หรือองค์กรชุมชนที่มีทุนการพัฒนาด้านต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือภาคเอกชน ในการทำงานและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน บทบาทและการมีส่วนร่วม เช่น การร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน กาพิจารณากลั่นกรอง จัดทำแผนงานโครงการ การร่วมกันซ่อมแซม ก่อสร้างที่อยู่อาศัย
๑. เกิดการสร้างบ้านแบบพอเพียงโดยเน้นความจำเป็นพื้นฐาน
๒. เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรในชุมชน รวมถึงท้องที่ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๓. เกิดการมีวินัย จากการสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันในชุมชน
๔. ความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณและสามารถตรวจสอบได้
๕. เกิดจิตอาสาในซ่อมสร้างบ้านเรือนในฐานะอาสาช่าง
เป้าหมายที่จะดำเนินต่อ
ประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามาหนุนเสริมให้กิจกรรม ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการจนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบ ไทยวน
แสดงความคิดเห็น