community image

เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านหนองแล้ง

อ.ขุนหาญ ต.สิ จ.ศรีสะเกษ
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover


         กลุ่มทำงานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านหนองแล้ง หรือ ทสม. เป็นเครือข่ายภาคประชาชน ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เอกชน ชุมชนและโรงเรียน ในด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

         เดิมชุมชนมีปัญหาเรื่องขยะที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีขยะเกิดขึ้นในชุมชนวันละ ๔๗๘ กิโลกรัม ในขณะที่สถานที่รองรับขยะมีจำนวนจำกัด แนวทางการลดคัดแยกขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการลดปัญหา การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำถังหอม เมื่อทุกคนร่วมมือกันปริมาณขยะก็ลดลง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของสมาชิกในชุมชนดีขึ้น


เส้นทางสู่ความสำเร็จก่อนมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         คณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ตำบลสิ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการเป็น ทสม. ตามที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการจัดอบรม

         การดำเนินงาน

         ด้านการประสานงาน : มีการประสานงานของเครือข่ายผ่านเวทีประชุมประจำเดือนของชุมชน ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว ประสานงานการดำเนินกิจกรรมผ่านเวทีประชุมของเทศบาล ประชาคมเทศบาล

         ด้านการแจ้งข้อมูลข่าวสาร : มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารการประชุมประจำเดือนของชุมชน ประชาคม เทศบาล หอกระจายข่าวชุมชน มีช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค และมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ของอำเภอ/เทศบาล

         กระบวนการทำงาน

         ภายในเครือข่าย ทสม. มีกระบวนการทำงานที่เน้นรูปแบบการทำงานอย่างเท่าเทียม มีความเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินงานในลักษณะการดำเนินงานของเครือข่ายร่วมกัน ดังนี้

กระบวนการหลัก

-   หาคนร่วมทำ สำรวจตนเอง

-   กำหนดเป้าหมายกิจกรรม

-   สร้างคณะทำงาน

-   ติดตามกิจกรรม

ใช้หลักดำเนินกิจกรรม ๘ ก.

-     แกนนำ / องค์กร

-     กัลยาณมิตร

-     กองทุน

-     การจัดการ

-     การเรียนรู้

-     การสื่อสารประชาสัมพันธ์

-     กระบวนการพัฒนา

-     กฎกติกา กฎระเบียบชุมชน

โดยผ่านกระบวนการ “คิด ทำ นำ เปลี่ยน” ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายชุมชนบ้านหนองแล้ง โดยเป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกกระบวนการการทำงานเครือข่าย ทสม. ตำบลสิ เน้นการทำงานผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน และมีการแบ่งงานตามความถนัดความสามารถของแต่ละคน ซึ่งต้องทำงานเป็นกลุ่ม ทีม เครือข่าย เพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน

         การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย

         มีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาทิ เช่น เครือข่าย ทสม.บ้านสิ อสม.บ้านหนองแล้ง โรงพยาบาลขุนหาญ วัด โรงเรียน ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอขุนหาญ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ พัฒนาชุมชนอำเภอขุนหาญ ฯลฯ

         ในการทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่าย ทสม. มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ดังนี้

-     ร่วมปฏิบัติงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน ในการรณรงค์การจัดการขยะมูลฝอยเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและยุง

-     ร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับเครือข่าย ทสม.ตำบลและอำเภออื่นๆในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น การปลูกไม้พะยูง การปล่อยพันธุ์ปลา เป็นต้น

-     ร่วมกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม กับเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม

-     ร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ การลดใช้พลังงาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับเครือข่ายชีววิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

         การอบรมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน การจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะครัวเรือนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ทสม. ในการเป็นผู้นำชุมชนด้านการจัดการขยะมูลฝอย ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง เครือข่ายทสม.ตำบลสิและประชาชนในชุมชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ โดยเครือข่ายทสม.ตำบลสิ มีกิจกรรมที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

         กิจกรรมคืนถัง โครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิล พัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน ธนาคารขยะรีไซเคิล การจัดการขยะอันตราย ร้านค้าสวัสดิการธนาคารขยะรีไซเคิล กิจกรรมปฏิเสธถุงพลาสติก กิจกรรมดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ธนาคารหัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ โครงการตลาดนัดสีเขียว สิ่งประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้


เป้าหมายที่จะดำเนินต่อ

๑. การขยายผลหรือเป็นวิทยากรให้แก่พื้นที่อื่น ลงพื้นที่ให้ความรู้ตามสถานศึกษาสอนวิธีการคัดแยกขยะ ๔ ประเภทหมู่บ้าน/ชุมชน

๒. เป็นวิทยากรบรรยายการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนร่วมกับหน่วยงานราชการ อาทิ เทศบาลตำบลขุนหาญ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลขุนหาญ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ

๓.  เป็นวิทยากรบรรยายจัดการขยะมูลฝอยชุมชน และบรรยายการทำน้ำหมักชีวภาพในพื้นที่ให้กับคณะศึกษาดูงานภายในจังหวัดและต่างจังหวัด 


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile