กว่าจะมาเป็นวันนี้
คนในชุมชนหัวไหล่เป็นเผ่าญ้อ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ยึดถือในประเพณีวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด เช่น ประเพณีการเลี้ยงผีหมอ นอกจากนั้นยังดำเนินชีวิตตามฮีตคองประเพณีอีสาน ชุมชนนั้นเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ได้รับการปลูกฝังจากบรรพบุรุษเรื่องการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต มีการอาหารจากทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ ในช่วงหน้าแล้งจะเป็นไข่มดแดง ดอกกระเจียว ช่วงหน้าฝนจะออกเก็บเห็นตามป่า ช่วงต้นฤดูฝนมีอาชีพเสริมคือการเลี้ยงต่อหัวเสือซึ่งสร้างรายได้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนห้วยไหล่มีวัดห่วยไหล่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เมื่อก่อนเป็นเพียงกฎิไม้เก่า และศาลาการเปรียญที่ชำรุดทรุมโทรม จนกระทั่งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันนำพาชาวบ้านก่อสร้างศาลาอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้เวลา ๖ ปีจึงแล้วเสร็จ ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ชาวบ้านนั้นเต็มเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยชาวบ้านจะมีการนำผลิตผลต่างๆ ที่ได้จากการเพาะปลูกไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ
แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ชุมชนห้วยไผ่นั้นได้รับความช่วยเหลือจากพระครูศรีธรรมมากร เจ้าอาวาสวัดห้วยไหล่ ร่วมมือกับผู้ใหญ่บ้าน และผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านจึงทำให้กิจกรรมต่างๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี คนในชุมชนเกิดความรักความสามัคคี มีน้ำใจ เห็นได้จากงานบุญของวัดหรือโรงเรียน และกิจกรรมอาสาพัฒนาชุมชน
สิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จนั้นคือ ความเสียสละ อันเป็นหัวใจของการทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จากการที่ชุมชนห้วยไหล่ โรงเรียนบ้านห้วยไหล่ วัดห้วยไหล่ได้ประสานใจ ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ถ้าชุมชนไม่มีกิจกรรมร่วมกันจะขาดความเป็นปึกแผ่น คนในชุมชนจะไม่เห็นความสำคัญของการเสียสละ สังคมจะไร้ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาก็ยากที่จะสำเร็จ ฉะนั้นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน โดยใข้หลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ (ธรรมที่ช่วยให้เกิดความเจริญในหมู่คณะ)
ประกอบด้วย ๑)หมั่นประชุมกันบ่อยๆ ๒)เมื่อประชุมก็พร้อมประชุม เมื่อเลิกพร้อมกันก็ช่วยทำกิจต่างๆ ๓)ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ และไม่ยกเลิกที่บัญญัติไว้แล้ว ๔)เคารพเชื่อฟังถ้อยคำของผู้ใหญ่ ๕)ไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรี ๖)ให้การเคารพ และปกป้องรักษาปูชนียสถานที่สำคัญทางศาสนา ๗)ให้อารักขาคุ้มครองอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ คือคุ้มครองบรรพชิตผู้ทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา
ความท้าทาย
ความท้าทายในการทำงานนั้นคือโลกธรรม ๘ ประการ ซึ่งเป็นสัจธรรมของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นลาภยศที่ได้มา แต่ก็ต้องมีวันเสื่อมถอยไป สิ่งที่ดีย่อมมากับขั้วตรงข้ามเสมอ
อีกทั้งยังมีความขี้เกียจ ไม่มีความพึงใจในการทำงาน ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งให้การทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ถึงกระนั้นทางชุมชนก็สามารถก้าวข้ามความท้าทายนั้นได้โดยใช้หลักธรรมทางศาสนา หรือบุคคลต้นแบบที่ทำงานทุ่มเทเสียสละ มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน เพื่อเสริมสร้างแรงผลักดันให้คนในชุมชนรู้จักการเสียสละแม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
เห็นความเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาด้านวัตถุที่เจริญมากขึ้นสืบเนื่องมาจากได้รับแรงกระตุ้นจากส่วนราชการต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ หรือมีกิจกรรมบ่อยๆ ทำให้ต้องกระตือรือร้นที่จะพัฒนาเพื่อรองรับกิจกรรมหรืองานมหกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน และคนในชุมชนเข้าใจวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นิยมส่งบุตรหลานให้ได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อใช้ความรู้ที่ได้รับเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในดีขึ้น และเป็นความหวังของครอบครัว
ชุมชนนั้นได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และคณะทำงาน เห็นการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มคณะ ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย จึงใช้การสื่อสารแบ่งงานรับผิดชอบอย่างชัดเจนเข้ามามีส่วนช่วย รายงานผลการดำเนินการโดยยึดหลักความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว แสวงหาจุดร่วมในความต่างของความคิด ลดความขัดแย้งในประเด็นที่อ่อนไหว ทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
การให้ชุมชนได้เข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยหลักของศีล ๕ มากยิ่งขึ้น ตั้งตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ มีอาชีพสุจริต ไม่หลงไปในกระแสวัตถุนิยมมากเกินไป ชุมชนมีความเข้มแข็ง ปราศจากยาเสพติด และอบายมุข ดำรงชีวิตอย่างปกติสุข โดยยึดหลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้อภัยซึ่งกันและกัน กลุ่มพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นกลไกลในการสร้างความปกติสุขให้เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียงนั้นย่อมดีกว่าการหลงไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการทำให้คนในชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องได้รับการส่งเสริมจากส่วนราชการต่างๆ เมื่อชุมชนได้รับการพัฒนา ประเทศชาติก็จะได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน
ข้อมูลติดต่อ
พระครูศรีธรรมากร ๐๘๔-๓๙๑-๘๒๔๑
แสดงความคิดเห็น