community image

องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าโพนค้อ

อ.โคกศรีสุพรรณ ต.เหล่าโพนค้อ จ.สกลนคร
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นและการบริโภคในภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการขยะที่ยังไม่ดีพอ ก่อให้เกิดปัญหาการนำขยะไปทิ้งในที่สาธารณะ สาเหตุหลักที่ทำให้ขยะเกิดการหมักหมมส่งกลิ่นเหม็นรบกวน คือขยะอินทรีย์ รองลงมาคือขวดแก้ว ขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล ก่อให้เกิดมลพิษแก่ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ในเบื้องต้นอบต.เหล่าโพนค้อได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยขุดหลุมฝังกลบขยะที่ตกค้างตามที่สาธารณะต่างๆจากนั้นได้ทำการประชุมประชาคมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีมติให้จัดตั้งธนาคารขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางและนำขยะมาใช้ประโยชน์


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         เริ่มต้นจากการจัดตั้งธนาคารขยะโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท ดำเนินการใน ๒ หมู่บ้าน ๑ โรงเรียน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นจึงขยายไปยังอีก ๙ หมู่บ้าน ๒ โรงเรียน ทำให้ขยะที่คัดแยกมาขายแล้วนำเงินรายได้ไปจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกลุ่ม

         นอกจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลไปจำหน่าย และนำรายได้มาเป็นสวัสดิการให้สมาชิกแล้ว การจัดการขยะอินทรีย์นั้นได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการทำบ่อหมักขยะอินทรีย์ สร้างจุดสาธิตบ่อแก๊สชีวภาพ ก่อเกิดนวัตกรรมุงหมักขยะอินทรีย์ คอนโดผักหมักปุ๋ย เตาเผาถ่านไบโอซาเป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาขวดพลาสติกขายไม่ได้ ราคาขวด pet สกรีน ตกต่ำได้คิดค้นนวัตกรรมนำขวดพลาสติกสีที่พ่อค้าไม่รับซื้อมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยประดิษฐ์เครื่องรีดเส้นไม้กวาดจากขวดพลาสติก เครื่องตัดก้นขวดพลาสติก เพื่อผลิตไม้กวาดขวดพลาสติกจำหน่ายทั้งในตลาดทั่วไปละในตลาดออนไลน์ พร้อมกับมีการนำแอพพิเคชั่นเข้ามาใช้ในการซื้อขายขยะ และเส้นพลาสติกสำหรับทำไม้กวาด

         ทั้งนี้ยังได้มีความพยายามในการนำขยะทั่วไปมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทำเป็นม้านั่งถุงพลาสติก จนได้รับรางวัลชนะเลิศ ๑ อปท. ๑นวัตกรรมจัดการขยะชุมชน ประจำปี ๒๕๖๒ ภายใต้หัวข้อ “ลดการใช้พลาสติกและ โฟม”

         จากการบริหารจัดการขยะ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะและแปรรูปขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายจากขยะจำหน่าย จนได้รับการยอม มีคณะศึกษาดูงานมาดูงานนำไปต่อยอดขยายผลมากมาย รวมทั้งเชิญไปเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้ ทั้งใน หมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการอื่นๆ ทั่วทั้งจังหวัดสกลนครและจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาได้จริงไม่เกินความสามารถของชุมชน     

 

ความท้าทาย

         เมื่อเริ่มโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทางยังมีประชาชนบางกลุ่มไม่เข้าร่วมโครงการเนื่องจากยังไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และความสำคัญของโครงการ ยังเกิดความมักง่ายเห็นแก่ตัวในการทิ้งขยะ มีการต่อต้านบ้างเป็นบางครั้ง แต่พอทำกิจกรรมไปสักระยะหนึ่งประชาชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะ นำขยะมาขายให้กับธนาคารขยะที่ อบต.ตั้งขึ้น

วิธีการก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคนั้น เริ่มต้นด้วยการอบรมให้ความรู้เรื่องประโยชน์และสิ่งที่ได้จากการคัดแยกขยะมูลฝอยให้กับประชาชนในชุมชน และนักเรียนตามโรงเรียน จัดทำเป็นเอกสาร หนังสือ แผ่นพับ ประกาศหน่วยงาน แจกจ่ายในกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านช่องทาง สร้างกลุ่มไลน์ การประชุม ผู้นำชุมชน เครือข่าย อสม. กลุ่มอาชีพ ประชาชนในพื้นที่


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         นอกจากการตั้งธนาคารขยะเพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกเมื่อเสียชีวิตแล้ว(ศพละ ๑๑,๐๐๐ บาท) องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าโพนค้อยังส่งเสริมให้ชุมชนตั้งกลุ่มและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำงาน มีอาชีพและรายได้เสริมจากการทำไม้กวาดขวดพลาสติกสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขวดพลาสติกสีที่ร้านไม่รับซื้อแทนการทิ้งแต่นำมาต่อยอดสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนปัจจุบันกลุ่มไม้กวาดบ้านหนองเหียนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสะท้อนคุณธรรม ๕ ประการ ประกอบด้วย

(๑)พอเพียง - รวมกลุ่มทำงานร่วมกัน สมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง (๒)วินัย - ทุกคนรู้หน้าที่ตนเอง มีวินัยต่อตนเองและองค์กร (๓)สุจริต - ทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสตรวจสอบได้หากสมาชิกมีความสงสัย (๔)จิตอาสา - หากมีงานในชุมชนทุกคนต้องไปร่วมงานอย่างเต็มใจ และมีความสุข (๕)กตัญญู - ตระหนักถึงสุขภาพ ความสะอาด ของชุมชนเป็นชุมชนปลอดขยะ โดยการลงมือคัดแยกขยะต้นทาง


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         คิดค้นวิธีการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ โดยจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เมื่อสำเร็จ นำไปขยายผลให้ประชาชน ทั้งในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น หน่วยงานอื่น แล้วรับซื้อผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายทั้งออพไลน์และในตลาดออนไลน์ นอกจากนี้ยังต้องผลิตเป็นสื่อพร้อมทั้งมีการจัดการความรู้ โดย จัดทำเอกสารเผยแพร่ เป็นแผ่นพับ เป็น Ebook จัดทำคลิปวีดีโอการจัดการขยะ การแปรรูปขยะเผยแพร่ใน youtube จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การแปรรูปขยะ เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกช่องทาง ทั้งการเรียนรู้ทางช่องทางออนไลน์ การมาศึกษาดูงาน การเชิญไปอบรมถ่ายทอดความรู้

ข้อมูลติดต่อ

นายรัตนะ คำโสมศรี ๐๘๕-๖๐๘-๓๖๙๙

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายรัตนะ คำโสมศรี ๐๘๕-๖๐๘-๓๖๙๙

แสดงความคิดเห็น

profile