community image

องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม

อ.อินทร์บุรี ต.ท่างาม จ.สิงห์บุรี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 27 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         พื้นที่ตำบลท่างามมีการใช้แนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนในการ ขับเคลื่อนชุมชนโดยชุมชนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิดการบริหารพื้นที่เพื่อสร้างสุขแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาและสถานการณ์วิกฤตพื้นที่เช่นปัญหาภัยพิบัติ โดยใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้งด้วยกระบวนการ “ทำให้ดู บอกให้รู้ ไปดูด้วยกัน” และนำมาสู่การพัฒนาแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” การเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้วยการหนุนการทำงานของกลุ่มและองค์กร เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ การพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการบูรณาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด คนในชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ รวมทั้งเรื่องผักการให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างความสุขของคนในชุมชนในรูปแบบ BANANA SOLUTION


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         วิสัยทัศน์ของอบต.ท่างาม เป็นองค์กรส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน พัฒนาทักษะการทำงาน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาตำบล สู่ตำบลสุขภาวะตามวิถีพอเพียง โดยกระบวนการดำเนินการพัฒนางานของตำบลท่างามมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของอบต.ท่างามในระยะที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยพิบัติซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นโครงสร้างการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพทมาเป็นเกษตรกรรมเชิงการค้าและส่งออก โดยส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นอยู่ของชุมชน ความสุขของประชาชนลดลง

         ในระยะต่อมาได้ค้นหาทุนทางสังคมของชุมชนที่มีศักยภาพ นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องภัยพิบัติ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการของตนเอง มีการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อขจัดปัญหา ในรูปแบบกองทุน เกิดกระบวนการท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมกันขจัดปัญหา และต้องการจัดการระบบการอยู่ร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันด้วยตนเอง โดยอบต.ท่างามใช้เวทีการประชาคม กระบวนการแผนชุมชน เป็นเครื่องมือในการบริหารพัฒนาท้องถิ่น ทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้แต่ละกองงานในสังกัดอบต.ท่างามร่วมการออกแบบพัฒนารูปแบบการทำงานตามอำนาจหน้าที่ สู่การสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมกับแกนนำ และคนในชุมชนในการสร้างนวัตกรรม “ท่างาม ๖ ดี” ประกอบด้วย ๑)สุขภาวะดี รับผิดชอบโดยสำนักปลัด อบต.ท่างาม ๒)สังคมดี รับผิดชอบหลักโดยกองสวัสดิการสังคม ๓)ศึกษาดี รับผิดชอบหลักโดยกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ๔)โครงสร้างดี รับผิดชอบหลักโดยกองช่าง ๕)บริการดี รับผิดชอบหลักหน่วยกองคลัง ๖)โปร่งใสดีรับผิดชอบหลักโดยหน่วยงานตรวจสอบภายใน


ความท้าทาย

         อบต.ท่างามมีจุดเริ่มต้นของฐานคิดการทำงานในกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นคือ “เพื่อขจัดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” โดยประสานความร่วมมือจากองค์กรในพื้นที่ และนอกพื้นที่ซึ่งมีงบประมาณ องค์ความรู้ และประสบการณ์ในแต่ละด้าน แต่ที่ไม่มีคือ พื้นที่ในการทำงาน อบต.ท่างามจึงขอเป็นพื้นที่ทำงาน และบูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริง การพัฒนาเพื่อเสริมศักยภาพชุมชนด้วยกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนซึ่งเป็นเป้าหมายของการใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้มีโอกาสแสดงความคิดและเกิดการเรียนรู้สู่การจัดการแบบมีส่วนร่วม มุ่งเน้นการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนในการขับเคลื่อนตำบลท่างามให้เป็นตำบลน่าอยู่ แบบ BANANA SOLUTION การแก้ไขปัญหาแบบง่ายๆ กล้วยๆ ด้วยทุนทางสังคมในพื้นที่


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         ๑.พอเพียง นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีชีวิตจนเกิดเป็นรูปประธรรมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆส่งเสริมการลดรายจ่ายการออมปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนดำเนินชีวิตแบบสายกลางมีความพอประมาณมีภูมิคุ้มกันที่ดี

         ๒.วินัย ส่วนใหญ่ยึดมั่น และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองต่อสังคม มีส่วนร่วมในเวทีประชาคม ปฏิบัติตามข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น

         ๓.สุจริต มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมทั้งปวง และต้องกล้าปฏิเสธการกระทำที่ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ของบุคคลอื่น

         ๔.จิตอาสา มีใจต่อสาธารณะ และอาสาลงมือทำงานต่างๆ ปฏิบัติงานด้วยจิตอาสาด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

         ๕.กตัญญู รู้คุณค่าของบรรพชน บุพการี ประเทศชาติบ้านเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ ได้ลงมือปฏิบัติต่อบุคคล และสิ่งเหล่านั้นในเชิงบวก เพื่อให้เกิดเป็นการดำเนินชีวิตร่วมกันและสภาพแวดล้อมที่ดีงาม


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         สามารถสร้างความยั่งยืนในมิติของทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้ทุนทางสังคม และศักยภาพของตำบลเป็นตัวตั้งในกระบวนการขับเคลื่อนงาน และสร้างการมีส่วนร่วม คือ คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ สามารถสร้างจิตอาสา สร้างแกนนำ สร้างความยั่งยืนมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชื่อมโยงกับทุนศักยภาพของชุมชน มีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ ไปจนถึงการบูรณาการงานต่างๆ ของชุมชนเข้าสู่งานประจำของอบต. สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้คนใจชุมชนเกิด “ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership)” ด้วยการจัดการตนเองในรูปแบบกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพ โดยการขจัดปัญหา และพึ่งพากันเองในชุมชนอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูลการติดต่อ

นายชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ๐๘๖-๕๕๗-๖๖๓๖

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ๐๘๖-๕๕๗-๖๖๓๖

แสดงความคิดเห็น

profile