“๓ ห่วง ห่วงใย ใส่ใจขยะ”
ในอดีตชาวบ้านจะแพ่วถางป่าเพื่อสร้างบ้านเรือนและที่ดินทำกิน ซึ่งแต่ละทุกชุมชนจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ใช้เป็นสุสานหรือฌาปณสถาน (ป่าช้า) แต่เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามา การประกอบพิธีศพได้เปลี่ยน แปลงไปมาก ชาวบ้านนิยมเผาศพที่วัดแทนการฝังศพ ป่าชุมชนจึงไม่ได้รับการดูแลและผู้คนเกิดความหวาดกลัว ด้วยเคยเป็นสถานที่ในการฝังศพมาก่อน ป่าจึงมีสภาพเสื่อมโทรม มีการตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือการนำขยะไปทิ้ง เกิดเป็นภาพที่ดูไม่งาม
ตาและเกิดเป็นมลพิษ องค์การบริหารส่วนตำบลจาน จึงเล็งเห็นถึงปัญหาและได้ดำเนินโครงการ กิจกรรมธนาคารขยะและโครงการฟื้นฟูป่าชุมชนตำบลจานปลอดขยะ (ชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้อง) มาใช้เป็นหมู่บ้านนำร่อง ในการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะในพื้นที่ป่าสาธารณะ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะ โดยส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะและใช้นวัตกรรม “๓ ห่วง ห่วงใย ใส่ใจขยะ” สำหรับใช้เป็นห่วงคัดแยกขยะ เพิ่มมูลค่าของขยะ และสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน แต่ยังมีขยะบางชนิดที่ไม่สามารถนำไปขายได้ และประชาชนในหมู่บ้านรอบข้างขาดจิตสำนึก มีการลักลอบนำขยะไปทิ้งตามป่าสาธารณะต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์เก่า โฟม เศษวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ และยังมีการเผาขยะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลจาน จึงได้ใช้วิธีการบูรณาการความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรักษาทรัพยากรท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าสาธารณะร่วมกัน สร้างความเข้าใจให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชนและลดปัญหาขยะในป่าสาธารณะได้เป็นอย่างดี
เส้นทางความสำเร็จของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม
๑.องค์การบริหารส่วนตำบลจานได้ใช้แนวคิด “ความรู้คู่คุณธรรมนำสู่ความสำเร็จ” เข้าไปแก้ปัญหาให้กับชุมชน เริ่มจากการหาสาเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่และมีการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี จึงได้สร้างองค์ความรู้ให้กับคนในพื้นที่ในเรื่องการคัดแยกขยะ เพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะ เกิดโครงการกิจกรรมธนาคารขยะ องค์การบริหารส่วนตำบลจาน (นำร่อง) มีการใช้นวัตกรรม “๓ ห่วง ห่วงใย ใส่ใจขยะ”
๒.ใช้กระบวนการทำประชาคมหมู่บ้าน และทำบันทึกข้อตกลงตามแผนปฏิบัติการขยะมูลฝอยจังหวัดศรีสะเกษ
๓.การรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง โดยยึดหลักการการมีส่วนร่วมจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา และภาคประชาชน หลังจากนั้นได้บูรณาการความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ (อพ.สธ.) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะในป่าชุมชน
๔.ประสานงานกับโรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง ในการนำเด็ก/เยาวชน เพื่อเป็นแกนนำร่วมกิจกรรมทำความสะอาด เก็บขยะและสำรวจพันธุกรรมพืชในป่าชุมชน
๕.มีกลุ่มจิตอาสาและปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับพืช ชนิดของสัตว์ที่พบในป่าชุมชน มีการสำรวจข้อมูลในป่าชุมชนทุกวันพุธ และจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษา
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ไม่พบผู้นำขยะมาทิ้งในป่าชุมชน ทำให้ป่าชุมชนมีความสะอาดและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีแหล่งเรียนรู้และศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เด็กและเยาวชนเกิดความรักหวงแหนในทรัพยากรที่มีในป่าและช่วยกันอนุรักษ์รักษาไว้ ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในครัวเรือน สามารถคัดแยกขยะ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความสามัคคีและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม และเห็นความสำคัญของป่าสาธารณะ อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ในการหาวัตถุดิบในการประกอบอาหารพื้นบ้านได้ เช่น เห็ด หน่อไม้ และผักป่าชนิดต่างๆ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาขยะในชุมชน โดยเฉพาะในป่าชุมชน(ที่สาธารณะ) ทุกแห่งที่มีปัญหาขยะสะสม ซึ่งจะดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสร้างป่าชุมชนทุกแห่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และเป็นแหล่งหาอาหารสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และเป็นสถานที่สำหรับให้องค์กรภายนอกเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ : นางสาวอำภา บ่อทอง โทรศัพท์ ๐๔๕-๙๖๐๔๖๒ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบคุณธรรม
ตำบลจาน จังหวัดศรีสะเกษ
แสดงความคิดเห็น