ถิ่นไชโป๊วหวา
โจษขานเค้กมะพร้าวอ่อน
สุดยอดมะขามเทศมัน
สีสันงานประเพณีแห่ดอกไม้
คนเจ็ดเสมียน เคารพรักให้เกียรติ และยกย่อง ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองชาวเจ็ดเสมียนจะถือคติว่า “ต่างความคิดแต่ไม่ต่างการกระทำ” เสื้อต่างสีจึงมารวมตัวกันเป็น “กลุ่มเสื้อส้ม” ที่ทำงานในลักษณะจิตอาสา โดยไม่หวังผลตอบแทน กิจกรรมแรกเริ่มที่ดำเนินการ คือ การทำความสะอาดชุมชน ได้รับการตอบรับในชุมชนที่ต้องการเป็นจิตอาสาจากหลากหลายอาชีพ
ในช่วงแรกที่ดำเนินการจะมีข้อสงสัยจากสมาชิกว่า “ทำแล้วจะได้อะไร” แกนนําจึงได้จัดการอบรมเพื่อปลุกจิตสํานึกสาธารณะ เดินตามรอยเท้าพ่อสานต่อที่พ่อทำ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความภาคภูมิใจในการทำประโยชน์ให้ท้องถิ่น โดยทีมกลุ่มเสื้อส้มมีภารกิจที่ช่วยดูแลบุคคล ๓ วัย ได้แก่ เด็กเยาวชน ภาคประชาชน และคนสูงอายุ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
จากการเริ่มต้นของกลุ่มเสื้อส้ม มีหลักการสำคัญในการพัฒนาคือ ระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม มุ่งเน้นให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมกับชุมชน ด้วยวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยใช้กระบวนการเห็นปัญหา เข้าใจ ร่วมแก้ไข และวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นท้องที่ การร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ “บริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาสังคมอย่างมีคุณภาพ”
การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีการกระจายข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ด้วยหนังสือ การสื่อสารแบบปากต่อปาก การเข้าร่วมรับทราบข้อมูลในเวทีประชาคม เวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางความคิด และเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนร่วมให้เป็นเครือข่ายในชุมชน ใช้การกระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้เท่าทันกับสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิต วิถีสังคม ไม่ตกอยู่ในการบริโภคนิยมและวัตถุนิยม อีกทั้งเพื่อให้คนในชุมชนได้ตระหนักในความเป็นพลเมืองของคนตำบลเจ็ดเสมียน ที่ต้องรู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีการตื่นตัวต่อสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีความสำนึกและมีจิตสาธารณะที่จะบำเพ็ญต่อสาธารณประโยชน์ และถิ่นกำเนิดของตนเอง การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการเปิดเวทีร่วมกันให้ประชาชนในตำบล เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ระดมความคิดเพื่อหาจุดเชื่อมโยง และสร้างกระบวนการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในทุกด้าน สร้างจิตสาธารณะในการทำงานร่วมกัน เช่น การประชุมจัดงานประเพณีวันสำคัญ การประชุมแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการกระทำ การดำเนินการที่เกิดขึ้น ก็เป็นที่แน่นอนว่าต้องมีผลลัพธ์ อาจเป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ และเป็นที่แน่นอนเช่นกันว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ดังนั้น การร่วมรับผิดในการกระทำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การรับผลกระทบในด้านบวกก็เป็นการสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในทิศทางลบ จะมีกระบวนการในการบันทึกข้อบกพร่อง รับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไข และจะเป็นการเชื่อมโยงศักยภาพของชุมชน เพื่อที่จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ปัญหา และถือเป็นกรณีศึกษา (case study) รวมถึงเป็นโอกาสดีของชุมชนในการสร้างพลังครั้งใหม่ เพื่อเผชิญปัญหาร่วมกันอย่างสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสสร้างความรักในคราวทุกข์ยาก เป็นโอกาสในการสร้างประเด็นร่วม เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายประเด็นปัญหา
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
กลุ่มเสื้อส้ม ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลงมือทำสาธารณประโยชน์ แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ครอบคลุม ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นตำบลต้นแบบให้กับพื้นที่ข้างเคียงหรือพื้นที่อื่นที่สนใจ และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์หรือการแลกเปลี่ยน ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยทั่วไปแล้ว ต้นทุนและศักยภาพในพื้นที่นั้นถือเป็นความสำคัญที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น การนำวิธีการหรือกระบวนการต่างๆ ไปใช้จึงจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสภาพบริบทของพื้นที่ และที่ขาดไม่ได้อีกประการหนึ่งได้แก่การมีส่วนร่วมที่แท้จริงของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นความรักความหวงแหน ความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นางกรรณิการ์ ณ บางช้าง
ตำแหน่ง ประธานจิตอาสาภาคประชาชน
เบอร์ติดต่อ ๐๘๗-๑๖๙๑-๑๓๕
แสดงความคิดเห็น