community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนสวรรค์

อ.กุมภวาปี ต.ท่าลี่ จ.อุดรธานี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

ชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ชุมชนท่องเที่ยวสร้างสรรค์ คุณธรรมสร้างสุข


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนสวรรค์เดิมมีการอพยพมาจากถิ่นอื่น ได้มาเห็นทำเลเป็นที่เนินสูงเหมาะแก่การตั้งหมู่บ้าน เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ขณะนั้นเป็นป่ากว้างรกรุงรังไปด้วยป่าไม้และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิดจึงได้มาปลูกบ้านไม้ขึ้น ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งเกิดขึ้นที่โพน (ดินจอมปลวกที่เป็นเนินสูง) ชื่อต้นกะเดา (สะเดา) จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกะเดา” ต่อมาได้มีผู้อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นเป็นลำดับต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ พระอาจารย์เคน ซึ่งจำพรรษาที่วัดศรีสุข บ้านเหล่าหมากจันทน์ ตำบลสีออ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ได้บอกชาวบ้านในขณะนั้นว่า บ้านกะเดา ดูไม่เป็นสิริมงคลและไม่ถูกต้องตามตำรานัก ท่านจึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านให้ใหม่ว่า “บ้านโนนสวรรค์”

         จากพื้นที่ล้อมรอบด้วยป่าเขา อุดมไปด้วยธรรมชาติ เป็นพื้นที่รกร้าง ด้วยความสามัคคีของชุมชน จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้นำชุมชนคุณธรรมพลังบวร เช่น กลุ่มรถซาเล้ง กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จนเกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ขับเคลื่อนชุมชนด้วยพลังบวร สู่การเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น   


เส้นทางสู่ความสำเร็จการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         ชุมชนบ้านโนนสวรรค์ มีกระบวนการขับเคลื่อนสู่การเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นด้วยพลังบวร มีการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน ผู้นำพลังบวรให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและการสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน มีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในชุมชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมมีส่วนร่วมส่งเสริม สนับสนุน ชุมชนมีการติดตามประเมินผลสำเร็จ เพื่อทบทวนและปรับปรุง แผนพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนให้บรรลุผล


 ความสำเร็จของการขับเคลื่อนชุมชนด้วยมิติหลักธรรมทางศาสนา ประชากรบ้านโนนสวรรค์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ได้มีการจัดกิจกรรมทางศาสนาตามบุญประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เช่น ประเพณีทอดผ้าป่า บุญดอกหญ้า บุญผะเหวด บุญเบิกบ้าน บุญเข้าพรรษา


ความสำเร็จของการขับเคลื่อนชุมชนด้วยมิติหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จัดตั้งกลุ่มจิตอาสาทำความดี ทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน เช่น กิจกรรมจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ ควบคุมและป้องกันไฟป่า โดย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าลี่ ร่วมกับชุมชน กิจกรรมจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ ผู้นำชุมชนนำพาเด็กเยาวชน และชุมชน บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ชุมชนมีการจัดการขยะที่เป็นระบบ และการนำกลับมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พอกิน พออยู่ พอประมาณ มีวินัยและเหตุผล มาบูรณาการกับการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ทำให้เกิดความเข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถอยู่ได้ในภาวะวิกฤติ


ความสำเร็จของการขับเคลื่อนชุมชนด้วยมิติวิถีวัฒนธรรมไทย ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม พร้อมวิทยากรถ่ายทอดวามรู้ มีศูนย์การเรียนรู้ด้านคุณธรรม เช่น โรงเรียนคุณธรรม การแข่งกีฬาของชุมชนและ กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของชุมชน และผู้มาเยี่ยมเยือน มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น ผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ มีการต่อยอดเทศกาลประเพณีของชุมชน เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการของคนในชุมชน คือ โครงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ๑๔ กุมภา วิวาห์สะพานหิน เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยใช้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นมาเป็นจุดเชื่อมโยงกิจกรรม มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญา ความเชื่อ พิธีกรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน เช่น การนำพิธีบายศรีสู่ขวัญ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นมาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน


การกระจายข้อมูลข่าวสาร และการบูรณาการงาน โครงการ กิจกรรม ด้วยหลักการ “บวร” ผู้นำชุมชนและจิตอาสา ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล สู่คนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ผ่านหอกระจายข่าวชุมชน และมีการประชุมหมู่บ้านทุกเดือน สื่อบุคคลทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารตามบทบาทและช่องทางสื่อของตน ผู้นำ “บ” (บ้าน) เป็นผู้นำตามธรรมชาติ มีปราชญ์ชาวบ้านจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งกลุ่มรถซาเล้ง กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มทอผ้า กลุ่มฟ้อนรำ ชุมชนมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ ที่สามารถเป็นมัคคุเทศก์น้อย ผู้นำเที่ยว นักเล่าเรื่องของชุมชน ผู้ถ่ายทอด สืบสาน ฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน เช่น การย้อมสีด้ายด้วยวัสดุจากธรรมชาติในพื้นที่ การเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารพิษของชุมชน ผู้นำ “ว” (วัด) มีผู้นำทางศาสนา คือ เจ้าอาวาสวัดสว่างโนนสวรรค์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เผยแพร่หลักพระธรรมคำสอนผ่านกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชน ผู้นำ “ร” (โรงเรียน ราชการ) ซึ่งมีผู้แทนสถาบันการศึกษาและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เป็นผู้กระจายข่าวสารกลางของชุมชน


ความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ชุมชนบ้านโนนสวรรค์ เป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม มีภูมิทัศน์ที่มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม หน้าบ้านน่ามอง เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะชุมชนมีกฎระเบียบที่ร่วมกันตั้งขึ้นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนเล็กกลางป่าเขา อุดมไปความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะจุดเช็คอินท่องเที่ยวสำคัญ “สะพานหินท่าลี่” แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สะพานหินและหินงามสามจังหวัด ตั้งอยู่ในวนอุทยานภูเขาสวนกวาง โดยมีพื้นที่ควบคุมบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าทมและป่าข่า และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโพธิ์สำราญ ท้องที่ตำบลทมนางาม อำเภอโนนสะอาด และตำบลท่าลี่ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่ ๓๔,๘๕๘ ไร่ มีลักษณะเป็นภูเขาขนาดกลางทอดแนวยาวไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก ใช้เป็นแนวเขตธรรมชาติสำหรับแบ่งเขตจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย บางแห่งมีหินโผล่ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้เกิดการเรียงตัวของก้อนหินที่มีรูปร่างแปลกตา กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพป่าธรรมชาติเป็นป่าเต็งรัง มีไม้ที่สำคัญเช่น เต็งรัง ประดู่ กระบก มีไม้ที่ปลูกโดยใช้งบประมาณของทางราชการ เช่น ประดู่ ยูคาลิปตัส สัก พยุง เป็นต้น จุดเด่นของพื้นที่ เป็นอ่างเก็บน้ำลำห้วยทราย เป็นน้ำที่ไหลลงจากภูเขา และนำไปใช้อุปโภคบริโภคภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ บ่อน้ำผุด ถ้ำพระ ถ้ำจ้อง สะพานหิน มีลักษณะคล้ายสะพานเป็นหินทราย ตั้งอยู่ห่างจาก อบต.ท่าลี่ ประมาณ ๑๒กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓๐-๔๐นาที ลานหินตั้ง มีลักษณะเป็นหินก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่บนลานหินที่เกิดเองตามธรรมชาติ เกิดเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ส่วนหินงาม ๓ จังหวัด วนอุทยานภูเขาสวนกวาง เปรียบเสมือนพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์


การบูรณาการ โครงการ กับหน่วยงานภายในและภายนอกชุมชน ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนสวรรค์ บ้านราษฎร์สมบูรณ์ ดำเนินงานบูรณาการกับส่วนราชการ เช่น โครงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร On Tour ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี โครงการยกระดับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมครบวงจร โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี ในสถานการณ์การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบปัญหาที่สำคัญ คือ ความร่วมมือของคนในชุมชนค่อนข้างน้อย มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ ดินและน้ำ มีอาชีพการเกษตรแนวชีวภาพ ชุมชนมีการยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง พอดี พอประมาณ เหมาะสมกับศักยภาพ พออยู่ พอกิน การพัฒนาสู่ความยั่งยืน

         การนำทุนวัฒนธรรมสร้างคุณค่า มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่นการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การทำอาหารเมนูอัตลักษณ์ประจำถิ่น การพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวชุมชนในเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในพื้นที่ใกล้เคียง บ้านโนนสวรรค์และบ้านราษฎร์สมบูรณ์ ได้แก่ สะพานหินธรรมชาติ ตำบลท่าลี่ ชุมชน และหน่วยงาน จัดกิจกรรมการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น การพัฒนากลุ่มทอผ้า กลุ่มจักสาน ทอเสื่อกก


ความท้าทาย

          ๑)ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจและให้ความร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของวัด อีกทั้งชุมชนและสถานศึกษายังได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่ตนได้ผลิตขึ้นนำมาจัดจำหน่ายจนทำให้ผู้มาร่วมงานมีความสนใจ ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ชุมชนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของกิจกรรมที่จัดขึ้น มีทัศนคติที่ดีต่อการจัดกิจกรรมมีความคิดริเริ่มที่จะนำสิ่งที่ได้จากกิจกรรมโครงการไปพัฒนาต่อยอดทั้งตนเองและชุมชน

       ๒)ชุมชนควรมีการปรับปรุงในเรื่องของการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

          ๓)การเป็นชุมชนเล็ก แต่มีความเข้มแข็ง เป็นความท้าทายที่ชุมชนต้องยกระดับเพื่อรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนและการเป็นชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรมจนสามารถนำไปเป็นแบบอย่างต่อชุมชนอื่นได้


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลลัพธ์

 เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมต้นแบบด้วยพลังบวร ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและความต้องการของคนในชุมชน สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนได้

 เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมในมิติศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทย และการท่องเที่ยว

 ชุมชนมีการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และมีการพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์

ทางวัฒนธรรม

          ผลกระทบ

          ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนสวรรค์ ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดในทุกมิติ ขับเคลื่อนสู่ชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม เชื่อมโยงสู่การยกระดับเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถี กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เสริมคุณค่าพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน

               

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         การยกระดับชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม เป็นชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”             เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

         พัฒนาและยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีมาตรฐานสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น          และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชุมชน ที่ยังคงรักษานิเวศธรรมชาติ นิเวศวัฒนธรรม คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนไว้ได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ 

         แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน “สะพานหินท่าลี่” ได้รับการยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย กระตุ้นการท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ชุมชน

         มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขี้น และกระจายไปในทุกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน


ผู้ประสานงานในพื้นที่

        นายวินัย มุงคุลแสน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๘ เบอร์โทรศัพท์ ๐๖๕ ๖๖๕ ๐๘๕๕

นางวงเวียน พลนามอินทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เบอร์โทรศัพท์ ๐๖๑ ๒๓๘ ๙๙๖๕


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายวินัย มุงคุลแสน ๐๖๕ ๖๖๕ ๐๘๕๕

แสดงความคิดเห็น

profile