“หลักสองปลอดอบายมุข เป็นสุขทุกประเพณี สามัคคีคือพลัง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดหลักสองราษฎร์บำรุงนั้น เป็นชุมชนริมน้ำ คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตอยู่ริมคลองดำเนินสะดวก เดิมชุมชนมีประเพณีการห่อข้าวต้มมัดเนื่องในงานบุญกฐินประจำปีซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ วิถีชีวิตของคนในชุมชนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง ความร่วมมือกันของชาวบ้านที่พร้อมใจกันเข้ามาร่วมกิจกรรมประเพณีที่ทางวัดได้จัดขึ้น แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากความเรียบง่ายกลายเป็นความวุ่นวาย ไหลตามกระแสสังคมยุคใหม่ สิ่งที่เป็นอยู่เดิมย่อมถูกละเลยและลืมเลียนไป เพราะผู้คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านั้น ย่อมส่งผลให้ประเพณีท้องถิ่นดังกล่าวนั้นได้เลือนหายไปจากชุมชน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
จากการเลื่อนหายของประเพณีท้องถิ่นนั้น ส่งผลให้คนบางกลุ่มได้ตระหนักถึงผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมต่อชุมชน จนนำไปสู่การดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวรเพื่อก้าวสู่ชุมชนคุณธรรมของชุมชนวัดหลักสองราษฎร์บำรุงนั้นเริ่มจากการที่ผู้นำชุมชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการดังกล่าว มีความต้องการที่จะพัฒนาชุมชนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยนำหลักพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน และส่วนราขการ) มาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของชุมชนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง เป็นการประสานความร่วมมือของผู้นำชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน และส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลหลักสอง ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคนในชุมชนและต่างชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพัฒนา ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ปลูกสร้างจิตสำนึกในการเป็นจิตอาสา ทำความดีช่วยเหลือสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เต็มใจช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรัก ความสมัครสมานสามัคคีในเกิดขึ้นในชุมชน
การที่จะนำประเพณีท้องถิ่นของชุมชนที่เลือนหายไปกลับมานั้น ต้องมีการชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีดังกล่าวว่าเหตุใดจึงควรฟื้นฟูขึ้นมา แล้วอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดไว้เพื่อส่งต่อให้เด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จัก และรักษาให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป นำไปสู่การดำเนินการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่นห่อข้าวต้มมัดในงานบุญกฐินประจำปี
ความท้าทาย
ความท้าทายในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูประเพณีการห่อข้าวต้มมัดในงานบุญกฐินประจำปีที่เลือนหายไปนั้นคือ ในระยะแรกคนในชุมชน ตลอดจนชุมชนข้างเคียงยังไม่ทราบความเป็นมา และไม่ทราบว่ามีการจัดกิจกิจกรรมประเพณีดังกล่าว เป็นผลให้ชาวบ้านที่มาเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางวัดได้จัดขึ้นนั้นมีจำนวนน้อย จึงต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ การบอกเล่าแบบปากต่อปากของชาวบ้าน เพื่อให้ผู้ที่ไม่ทราบ ได้ทราบถึงงานประเพณีดังกล่าว
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ในปีถัดมามีผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน คนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง ได้ทราบแล้วว่ามีการจัดกิจกรรมดังกล่าวทุกปี จึงมาเข้าร่วม ช่วยกันทำการห่อข้าวต้มมัดด้วยความสามัคคีและความมีจิตอาสา โดยช่วยกันนำวัตถุดิบในการทำข้าวต้มมัดมาคนละเล็กละน้อย เมื่อถึงวันจัดงาน คนในชุมชนจึงร่วมมือกันทำข้าวต้มมัด และแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมงานบุญกฐินประจำปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนที่มีเพิ่มมากขึ้น รู้จักการแบ่งบันให้ผู้อื่น รู้จักการมีจิตอาสามาช่วยงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และได้เรียนรู้ความพอเพียง เน้นการมีส่วนร่วม จนกระทั่งสามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และมีความสามารถในการดึงคนให้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ผู้นำชุมชนเป็นตัวอย่างในการเสียสละ มีจิตสำนึกสาธารณะ
ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คนในชุมชนมีความสุข เกิดการพบปะกันในงานบุญ เห็นความสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นด้วยความเต็มใจ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ภายหลังจากการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่นของชุมชนวัดหลักสองราษฎร์บำรุงแล้วนั้น ชุมชนมีความตั้งใจที่จะดำเนินการจัดกิจกรรมประเพณีห่อข้าวต้มมัดเนื่องในงานบุญกฐินเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการมีส่วนร่วมการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนรัก และหวงแหน ประเพณี วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ทำให้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์ไว้ แล้วส่งต่อไปสู่คนรุ่นใหม่เพื่อให้ประเพณีดังกล่าวยังคงอยู่คู่ชุมชนสืบไป
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูประโชติสาครธรรม ๐๙๐-๙๗๒-๒๑๘๐
แสดงความคิดเห็น