“อัตลักษณ์วัดศิริบุญธรรม อดทน ขยัน
สร้างสรรค์ จิตอาสา”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
วัดศิริบุญธรรมนั้นได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๓ โดยพระอาจารย์สำรอง สิริจิตโต ร่วมด้วยชาวบ้านทุ่งโพธิ์ ด้วยสาเหตุที่ว่าถนนเส้นที่ใช้ในการเดินทางเพื่อไปทำบุญที่วัดสว่างวนารามนั้นมีความยากลำบาก โดยนายบุญ ทองแสนไกรได้มีการบริจาคที่ดินเพื่อใช้ในการสร้างวัดเป็นจำนวน ๑๑ ไร่ ๑๗ ตารางวา คนในชุมชนได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันก่อสร้างกุฏิสำหรับใช้เป็นที่พักสงฆ์ ศาลาการเปรียญเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คนในชุมชนประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม มีพืชผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล แต่ไม่มีพื้นที่ขาย หรือสถานที่จำหน่ายระยะทางไกล อีกทั้งผลผลิตของชาวบ้านจำนวนน้อย ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางไปจำหน่ายในตลาดไกลๆ จึงใช้พื้นที่ลานวัดให้มานั่งจำหน่าย ทำให้ชาวบ้านได้บริโภคของสดๆ ของพื้นบ้าน ของปลอดภัย ปลอดสารพิษ หรือแลกเปลี่ยนกัน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนวัดศิริบุญธรรมได้มีการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม เพื่อก้าวสู่การเป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร โดนเริ่มจากการให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมตามหลัก บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการร่วมมือกัน ทำความเข้าใจ วางกรอบในการดำเนินงาน กำหนดปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ ติดตามประเมินผลในการดำเนินงานว่าเป็นไปตามแผนที่ระบุไว้หรือไม่ มีส่วนที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดผลฤทธิ์ในการดำเนินงาน โครงการ กิจกรรมต่างๆ สำเร็จตามเป้าหมายจนเป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้ทางชุมชนได้มีวิธีการในดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นสามารถสัมผัสจับต้องได้ หรือวัฒนธรรมการกิน ให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ชุมชนมีรายได้ ทำให้มีการตื่นตัวทางวัฒนธรรม และมีหลายหน่วยงานมาส่งเสริม ซึ่งรวมถึงวัดศิริบุญธรรมที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างเห็นได้ชัด คือการสร้างกระบวนการที่มีจุดประสงค์ให้คนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุ ไปจนถึงเด็กและเยาวชน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน เพื่อสร้างความรู้สึกให้เกิดความอยากอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด ประเพณีวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมให้คงอยู่ โดยทางวัดจะมีการจัดงานบุญต่างๆ ที่สำคัญ เช่น บุญข้าวจี่ บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก รวมถึงงานบุญในวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา
ความท้าทาย
จากการสังเกต ติดตาม ประเมินผล พบว่าชุมชนวัดศิริบุญธรรมนั้นไม่มีอุปสรรคในการดำเนินงาน โครงการ กิจกรรม เพื่อพัฒนาชุมชนให้ก้าวสู่การเป็นชุมชนต้นแบบด้านคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร เพราะ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ) คนในชุมชนวัดศิริบุญธรรมนั้นตระหนักรู้ เข้าใจถึงความสำคัญ พร้อมร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาชุมชน ด้วยความรัก ความสามัคคี หวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิด ตามวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อีกทั้งยังร่วมกันวิเคราะห์จุดแข็งของชุมชน คือ ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน และการมีวัฒนธรรมประเพณีประจำท้องถิ่น อันแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นชุมชนวัดศิริบุญธรรม
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลจากความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ของชุมชนวัดศิริบุญธรรมจนประสบผลสำเร็จนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน พออยู่พอกิน เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรของคนในชุมชนนั้นไม่ได้มีมาก ไม่คุ้มค่าแก่การไปขายยังที่ไกลๆ ชาวบ้านจึงได้นำของมาแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงค้าขายที่ลานวัดศิริบุญธรรม ทำให้มีรายได้เล็กๆน้อยๆ มีร้านกินข้าววัด ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนนั้นพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนช่วยในการสร้างสวัสดิการให้วัด ให้ชุมชน เช่น พัฒนาวัดให้มีภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนมาเข้าวัดมากยิ่งขึ้น มีการให้ปัจจัยสงเคราะห์ศพ ที่มีผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยขนาดกว้างหน้าตัก ๙ เมตร สูง ๑๖ เมตร โดยมีชื่อเรียกคือ พระพุทธชินญาณมารวิชัยไตรโลกนาถ หรือหลวงพ่อพระพุทธเจ้าใหญ่ ประดิษฐานอยู่ภายในวัด อันเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของวัดศิริบุญธรรม
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ในส่วนของการเดินต่อไปยังอนาคตนั้นชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดศิริบุญธรรมมีความต้องการที่จะรักษามาตรฐาน รักษาสิ่งดีงามของชุมชน มีแผนพัฒนาบ้าน วัด โรงเรียน เช่น ถุงปันน้ำใจ แบ่งปันให้กับคนที่ไม่พร้อม คนยากไร้ คนที่ขาดปัจจัยในการดำรงชีวิต บุคคลทุพพลภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ทุกอย่างล้วนสะท้อนกลับไปยังสังคม
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูศรีปัญญาวิสิฐ ๐๘๖-๒๒๕-๒๗๒๐
แสดงความคิดเห็น