“ความเป็นผู้นำชุมชน
เกิดจากตัวตนไม่ใช่ตำแหน่ง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
สภาพสังคมในปัจจุบันนั้นทำให้ประชาชนส่วนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ห่างเหินจากการร่วมกิจกรรมในชุมชน และให้ความสนใจในการเข้าวัดทำบุญน้อยลง ทางวัดจึงเกิดความคิดว่า กิจกรรมทางวัฒนธรรมสามารถสร้างความสามัคคีระหว่างคนในชุมชนกับวัดได้ และสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น จึงมีการประสานงานกับคนในชุมชนให้มีโอกาสในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ทางวัฒนธรรม เช่น การตั้งศูนย์อบรมเด็กภายในวัด ทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัดและทางชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนในพื้นที่อื่นเพื่อนำความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนนั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
วัดใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมดึงชุมชนเข้ามา โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ประชาชนในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ และนำความรู้มาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง จึงได้เริ่มพาคนในชุมชนไปศึกษาดูงานวัฒนธรรม เพื่อให้ศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นจากการที่ได้เห็นความโดนเด่นจากสถานที่อื่น เกิดความคิดที่จะนำมาพัฒนาวัดในชุมชนของตนเอง คนในชุมชนได้ฝึกความคิด การทำงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทางวัดพุตะเคียนได้จัดให้มีการไปศึกษาดูงานในชุมชนท้องถิ่นอื่นในทุกๆ ปีเพื่อเพิ่มพูนความรู้ รวมถึงให้คนในชุมชนได้เห็น และศึกษาความรู้ใหม่ในบริบทแตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการเรียนรู้ ทำให้คนในชุมชนเริ่มมีความคิดที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง จากความคิดที่หลากหลายรวมกันเป็นความคิดที่ดีที่สุด และเกิดความร่วมมือร่วมใจระหว่างวัด โรงเรียน และชุมชน
ความท้าทาย
หลักการก้าวข้ามอุปสรรคของชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดพุตะเคียนเป็นไปในลักษณะของการฟังมากกว่าการพูด เพราะจะทำให้สามารถเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น แต่เดิมชาวมอญในชุมชนนั้นไม่นิยมเข้ามาทำบุญที่วัด เนื่องจากมีความไม่เข้าใจกันระหว่างวัดกับคนในชุมชน เพราะชาวมอญคิดว่าวัดพุตะเคียนเป็นวัดสำหรับคนไทยเท่านั้น คนมอญไม่สามารถเข้ามาทำบุญร่วมด้วยได้ แต่ภายหลังทางวัดได้รับฟังความคิดเห็น และความต้องการของชนชาวมอญมากขึ้น และได้มีการอธิบายปรับความเข้าใจว่าความจริงวัดคือสถานที่ของทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ศาสนาใดก็สามารถเข้ามาทำบุญหรือทำกิจกรรมต่างๆ กับทางวัดได้ สามารถใช้พื้นที่วัดในการทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาได้ตราบใดที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้ชนชาวมอญเปิดใจ เข้ามาให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทางวัดมากขึ้น
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
เนื่องจากชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดพุตะเคียนนั้นเป็นชุมชนขนาดเล็ก ปัญหาของทางชุมชนจึงมีเพียงปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเมื่อได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนในชุมชน และทางวัด จึงทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักและรักชุมชนมากขึ้น เกิดความสามัคคีระหว่างกัน เริ่มเห็นคุณค่าของวิถีท้องถิ่นของตนเอง เริ่มมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ยอมรับในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลายซึ่งมีความแตกต่างกัน และเกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่แต่เดิมไม่ค่อยสนใจที่อยากจะร่วมกิจกรรมกับทางชุมชน และทางวัดก็กลับมาเริ่มให้ความสนใจกับกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน และวัดมากขึ้น อีกทั้งยังนำความรู้ ความสามารถที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้ร่วมกันทำกับทางชุมชน และทางวัดมาพัฒนาต่อยอด ร่วมกันขับเคลื่อนให้วัด และชุมมีความเจริญ มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดพุตะเคียนมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีเป้าหมายที่จะทำให้คนในชุมชนได้มีความคิดริเริ่มในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง โดยจะมีการศึกษาดูงานวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความซึมซับและเกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้มากขึ้น นำข้อดีข้อด้อยของแต่ละชุมชนที่ได้ไปศึกษาเรียนรู้ มาปรับใช้ปรับแก้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้มากที่สุดในด้านต่างๆ ทางวัดตั้งใจจะดำเนินการผลักดันให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ทางวัฒนธรรมมากขึ้น ส่งเสริมให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของชุมชน อยากที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งที่ดีในชุมชน และร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาชุมชนไปในทางที่ดีขึ้นด้วยความเต็มใจ ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของชุมชนวัดพุตะเคียนให้เกิดขึ้น คนในชุมชนเกิดความคิดที่จะพัฒนาโดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าจะมีผู้สนับสนุนหรือไม่ ให้ชุมชนสามารถยืดหยัดได้ด้วยตัวเองตามกำลังทุนทรัพย์ที่มีอยู่ในชุมชน
ข้อมูลการติดต่อ
นายธิติพันธุ์ เกษกาญจน์ ๐๘๘-๖๙๕-๖๔๔๙
แสดงความคิดเห็น