“ท่าคอยร่มเย็นเป็นสุข”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดท่าคอยเป็นชุมชนเก่าแก่มีความโดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน ศาสนสถาน จิตรกรรมฝาผนัง คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น กอปรกับเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองตลาด จึงทำให้คนในชุมชนมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ และเพิ่มปริมาณผลผลิต การปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนจึงลดลง ทำให้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงด้วย ประกอบกับการการเมืองการปกครองที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้เกิดการแบ่งแยกกันในพื้นที่ แต่เนื่องจากในชุมชนมีวัด โรงเรียน และหมู่บ้านจึงใช้หลักของบวรในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของชุมชนวัดท่าคอย ประกอบด้วย
๑.ชุมชนวัดท่าคอยมีพระครูสิริทัศนียคุณ เจ้าอาวาสวัดท่าคอย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนมีวัดเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนให้มีความพอเพียง มีวินัย ใช้ปัญญา จิตอาสาพัฒนาชุมชน
๒.ผู้นำชุมชน ใช้คุณธรรมนำการพัฒนา และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ได้โดยการพึ่งตนเอง พึ่งพากันเองและรวมกลุ่มอย่างมีพลัง
๓.ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใชัพลังบวร และนโยบายประชารัฐ เป็นกลไกสำคัญส่งเสริมให้ประชาชน ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความสมัครสมานสามัคคี สร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต สืบสานประเพณี วิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม
๔.ผู้นำตามธรรมชาติ (ปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น) คนในชุมชนนำคุณธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นชุมชนคุณธรรม มีจิตอาสาพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่
๕.ผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนในพื้นที่ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและช่วยกันขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม
๖.คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและขับเคลื่อน โดยเป็นคณะกรรมการ มีส่วนร่วมการจัดทำประชาคม การประกาศเจตนารมณ์ มีการประชุมตามวาระ เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนา เป็นการรวมพลังของบวรที่เข้ามาร่วมกันบูรณาการทำงาน ซึ่งการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เนืองนิตย์ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ให้ความร่วมมือในการพัฒนา
ความท้าทาย
๑.จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อโรคโควิด๑๙ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งครอบครัว และการท่องเที่ยวในชุมชนชะลอตัวและขาดความต่อเนื่องการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขาดความต่อเนื่องและหยุดไปบ้างในบางโอกาส
๒.ชุมชนวัดท่าคอย เหมาะสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนและศึกษาดูงาน ดังนั้นการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ชาติภูมินั้น จึงเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
การขับเคลื่อนงานชุมชนคุณธรรมทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ดังนี้
๑.ยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้หลักธรรมทางศาสนา เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม
จริยธรรม และส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
๒.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย
๓.มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น อันเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน
-จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้านท่าคอยวิถีชีวิตการทำนา เพื่อส่งเสริม สืบสานวิถีชีวิต
-กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้าน
-การส่งเสริมประเพณีท้องถิ่น ทำบุญตักบาตรวันลอยกระทง การเทศน์มหาชาติ การทำบุญสงกรานต์การทำบุญสารทเดือนสิบ
๔.ปัญหาต่างๆ ในชุมชนลดลงจนหมดไป
๕.เกิดความดีงามขึ้นในชุมชน
๖.เกิดการพัฒนาศักยภาพชุมชนเป็น “ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ”
จากการที่ชุมชนวัดท่าคอย เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ส่งผลให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็ง เยาวชน ประชาชนได้ร่วมกันทำความดี ดำรงตนตามหลักศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม อยู่ดี มีสุข เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ พัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ขยายผลชุมชนคุณธรรมต้นแบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จพร้อมนำหลักคำสอนทางศาสนามาประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองมีความสุขส่งเสริมและสืบสานอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของหมู่บ้านให้มีความมั่นคง สร้างภูมิคุ้มกันด้านชีวิตจิตใจของคนในชุมชนให้มีความสุข อยู่กันด้วยความรัก สร้างสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อแบ่งปันในยามสุขในยามทุกข์ ให้มองเห็นว่า คนทุกคน บ้านทุกบ้าน คือหัวใจของเราพร้อมที่จะถนุถนอมหวงแหนฟูมฟักให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิต ครอบครัว ชุมชน ภูมิใจสนความเป็นตัวของตัวเอง
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูสิริทัศนียคุณ ๐๘๑-๐๑๗-๒๕๕๕
แสดงความคิดเห็น