“ชุมชนปลอดขยะ
ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง”
เดิมชุมชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และยังไม่เห็นคุณค่าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบบ้าน โดยเฉพาะการจัดการขยะ ทำให้สภาพแวดล้อมไม่ดี ในชุมชนยังไม่มีส่วนร่วม ไม่มีการรวมกลุ่มกัน จึงเริ่มก่อเกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วนหรือพลัง “บวร” ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ร่วมกันจัดการสภาพแวดล้อมโดยใช้ชื่อทีมว่า โก่งธนูพลัง “บวร” Change For Good ร่วมกันทำตำบลโก่งธนูให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น โดยใช้หลัก “คุณทำ” และหลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เข้ามาช่วยทุกเรื่อง มีการมาพูดคุยปรึกษาหารือกัน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านประชาชนและเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานเรื่องขยะ จากนั้น ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านจะต้องดำเนินการบริหารจัดการขยะเอง โดยเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดเลือกขยะ ทั้งขยะเปียกและขยะแห้งเพื่อนำขยะเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ตามแนวพระราชดำริ
๑.ขยะเปียก - สอนให้ประชาชนนำขยะเปียกไปเทลงถังเพื่อทำเป็นปุ๋ย ชื่อว่า “ถังขยะลดโลกร้อน” ทุกบ้านจะมีถังขยะเปียก โดยขยะเปียกจะกลายเป็นปุ๋ย และนำไปใช้กับแปลงผักสวนครัวที่ปลูกกินเอง ทำให้มีผักปลอดสารพิษไว้รับประทาน ส่งผลให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
๒.ขยะแห้ง - นำมาคัดแยกและนำฝากธนาคารขยะเดือนละ ๑ ครั้ง และสิ่งที่สำคัญทำให้เกิดแรงจูงใจคือต้องมีสวัสดิการช่วยเหลือ “เพื่อนช่วยเพื่อน” อาทิช่วยงานศพ ทำให้ประชาชนมีคุณธรรม สำหรับในด้านการบริหารจัดการนั้นจะมีการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารจัดการขยะ หมู่ละ ๗ คน มาดำเนินการบริหารจัดการขยะในหมู่บ้านตนเอง ซึ่งไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
ชุมชนเข้าร่วมโครงการพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยปลูกผักกินเองทุกหลังคาเรือน ต่อเนื่องทุกวันมายาวนานกว่า ๖ ปี จนสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ
โดยให้ความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ ๙๐ วัน ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งเสริมสร้างรายได้และความรักความสามัคคี ความเกื้อกูลของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ในส่วนของความท้าทาย อุปสรรคนั้นคือประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าในการพัฒนา ทีมงานพลัง “บวร” จึงลงพื้นที่ นำเอาสิ่งที่มีในชุมชนมาส่งเสริม และพัฒนาต่อยอด ให้ประชาชน และยังสืบสานด้วยการส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานเยาวชน นำเวลาว่างที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนชาวบ้านเข้าใจ และร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ไปในทางที่ดีขึ้น
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ประชาชนในชุมชนมีความรักถิ่นฐานบ้านเกิด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยความพอเพียง โดยการปลูกผักกินเองทุกครัวเรือน มีวินัยในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตอาสาช่วยงานในชุมชน มีการแบ่งปันผักที่เหลือจากเก็บกินมาแบ่งปันเพื่อนบ้าน หากเหลือยังเก็บไปขายสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้อีก เด็กและเยาวชน สามารถสืบสานงานตามแนวพระราชดำริได้ชัดเจน มีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.น้อย) โดยให้เด็กได้เรียนรู้งานตั้งแต่สองขวบ เช่น ตอนเช้าให้นำขยะเปียกไปเทในถังขยะเปียก ตอนเย็นให้รดน้ำผัก เป็นคนดีมีคุณธรรมต่อครอบครัวและชุมชน สะท้อนความกตัญญูรู้คุณ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดญาณเสนร่วมกับภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ด้วยพลัง “บวร” พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นและยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณของรัฐ มีตลาดเป็นของตนเอง สามารถผลิตและนำไปขายได้ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการอยู่ด้วยตนเองอย่างมีความสุข อีกทั้งมีการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรด้วยการใช้ขยะให้เกิดประโยชน์ในทุกประเภท เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนในชุมชน
ผู้ประสานงานในพื้นที่
พระครูสันติญาณประยุติ เจ้าอาวาสวัดญาณเสน/เจ้าคณะตำบลโก่งธนู
โทร. ๐๘๑-๙๘๔-๓๕๖๖
นางสาวอุดม ชัยปัญหา หัวหน้าสำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู
โทร. ๐๘๖-๑๒๓-๕๐๖๕
แสดงความคิดเห็น