“ลูกหลานชาวท่าเหนือ ลือเลื่องภูมิปัญญา สองพระปฏิมาคู่บ้าน หาดน้ำน่านงามตา พิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภาล้ำค่า
เลิศล้ำประเพณีงาม ๙ เดือน”
ก่อนที่จะมีการพัฒนานั้นเดิมชุมชนวัดคุ้งตะเภา เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุกว่า ๒๕๐ ปี ในบริบทของความเก่าแก่ มีความเข้มแข้งทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ พระสงฆ์ในวัดคุ้งตะเภาจึงได้มีการริเริ่มกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามรูปแบบของพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ โดยหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ สมัยท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระมหาเทวประภาส ลูกศิษย์ของท่าน ได้เห็นว่าควรขยายเครือข่ายและพื้นที่ให้มากกว่าการเป็นที่ตั้งรับ และเน้นการอบรมเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้องมองกลับมาที่ชุมชนตัวเองว่ามีความพร้อมที่จะเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นหรือไม่ ซึ่งได้ร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ และร่วมกันปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เกิดการเปลี่ยนผ่านช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำชุมชน คือหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาเต็มตัว ในขณะที่ฝ่ายปกครองคือชาวบ้านคุ้งตะเภาได้เลือกนายสมชาย เภาทอง ให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทั้งหลวงพ่อสมชาย และผู้ใหญ่สมชาย เป็นที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวเกษตรกรรม ทำให้มีความเข้าใจในบริบทและความยากลำบากในวิถีชีวิตของชุมชน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันพัฒนาตามรูปแบบสองประสานคือบ้านกับวัด การลงมือพัฒนาในด้านต่างๆ เริ่มดำเนินการไปโดยค่อยเป็นค่อยไป
หลวงพ่อพระสมุห์สมชาย และผู้ใหญ่สมชายได้ใช้การจัดกิจกรรมร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์สาธารณูปการของชุมชน คือ การพัฒนาวัด หรือแม้กระทั่งการนำพระไปช่วยโยมซ่อมแซมถนนระหว่างรองบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้คนในชุมชนเริ่มกลับมามองว่า แม้การรอคอยงบประมาณจากหน่วยงานเป็นสิ่งที่ควรจะได้ แต่ถนนในหมู่บ้านจะดีได้ถ้าเราช่วยกันทำหน้าที่ของความเป็นคนในชุมชน เริ่มตระหนักในคุณค่าของการยกระดับจิตใจจากผู้รอรับ มาเป็นผู้แบ่งปัน ในขณะที่การขยายเครือข่ายการพัฒนาชุมชนไปสู่เยาวชน ก็ได้มีการส่งพระออกไปสอนหนังสือตามโรงเรียนที่คนคุ้งตะเภาส่งบุตรหลานไปเรียน ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน โดยคุณครูมักอ้างว่าพระไปรบกวนเวลาเรียนของนักเรียน แต่สุดท้ายการสอน และการจัดกิจกรรมได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่ตัวเด็ก ทำให้โรงเรียนเห็นคุณค่าในการร่วมกิจกรรมกับทางวัด ในขณะที่วัดคุ้งตะเภาก็ไม่ทอดทิ้งโรงเรียน มีการช่วยระดมทุนเพื่อซ่อมแซมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนหรือแม้กระทั่งการจ้างครูสอนเสริมในวิชาที่ขาด จนเกิดการร่วมมือสามประสาน ด้วยพลังบวร และต่อยอดไปยังการพัฒนาชุมชนในเรื่องอื่นๆ ได้ในที่สุด
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ในปัจจุบันชุมชนวัดคุ้งตะเภาเกิดการมีส่วนร่วม และเครือข่ายการพัฒนาจากภายใน โดยมีวัดเป็นแกนประสานเกิดพลังความสามัคคีและเข้มแข็งจากอารยวิถี สังคหวัตถุ ๔ แบ่งปันดี มีวิธีสื่อสารสงเคราะห์ช่วยเหลือ เอื้อชีวิตพอเพียง เกิดภาคีเครือข่าย ๔ ประสานในภาคส่วนชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน สถานีอนามัย และเครือข่ายผู้นำชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันสู่การสร้างศูนย์รวมจิตใจและแบ่งปันเอื้อเฟื้อ ทั้งนามธรรม และวัตถุธรรม ก่อเกิดผลคือ ชุมชนคุ้งตะเภาพุทธวิถี เกษตรกรรมชนบท ดำรงอยู่ได้บนฐานแห่งความพอประมาณ ให้สามารถพึ่งพานเองได้อย่างมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันตนด้วยการประกอบสัมมาชีพพุทธวิถีเกษตรอินทรีย์ และการรวมตัวเป็นกลุ่มอย่างรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ความต้องการผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
สิ่งประกันคืออย่างน้อยที่สุดคนในชุมชนคุณธรรมวัดคุ้งตะเภา ล้วนมีความเกี่ยวดองเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมู่บ้านและมีวัดคุ้งตะเภาเป็นพื้นที่ศูนย์รวมใจและความศรัทธาของคนทั้งชุมชนมีหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย และผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา รวมถึงเครือข่ายผู้นำที่สร้างขึ้นใหม่ ทั้งในส่วนของพระสงฆ์ และผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ เป็นแกนหลักด้านส่งเสริมคุณธรรมแก่คนในชุมชน ผ่านการบูรณาการโครงการ กิจกรรม ของทุกหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกชุมชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน เน้นหลักพอกิน พอใช้ พออยู่ ร่มเย็น มีบุญ มีทาน มีขาย มีเครือข่าย โดยมีการประชุมสรุปผลชุมชนคุณธรรมทุกๆ เดือน และมีการจัดทำป้ายชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความภาคภูมิใจให้ตระหนักอยู่เสมอ
ผู้ประสานงานในพื้นที่
พระครูธรรมธรเทวประภาส วชิรญาณเมธี
เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
โทร ๐๙๐ ๑๙๙ ๙๐๒๒
แสดงความคิดเห็น