“ประเพณีกำเมือง เจ้าหลวงเมืองล้า
ภาษาไทลื้อ เลื่องลือจิตกรรมฝาผนัง
โด่งดังไกยี ของดีผ้าทอ”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
จากแคว้นสิบสองปันนาสู่บ้านหนองบัว ได้ดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักความสงบ ความสะอาดจากรุ่นสู่รุนที่ชาวไทลื้อบ้านหนองบัวได้เดินตามรอยบรรพบุรุษจนทุกวันนี้เพราะเรามี ๕ ภูมิวัฒนธรรมนำชุมชนหนองบัวเข้มแข็ง คือ
๑. ภูมิหลัง ชาวไทลื้อหนองบัวที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากเมืองล้า แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งมีเชื้อสายชาตินักรบมีความอดทน กล้าหาญ สามัคคีโดยได้อพยพมาตั้งรกรากที่จังหวัดน่าน ในสมัยพญามหายศเป็นเจ้าผู้ครองเมืองน่าน (พ.ศ.๒๓๖๕) จนถึงปัจจุบัน
๒. ภูมิเมือง มีการบริหารจัดการการวางผังเมืองที่ตั้งของชุมชนที่เหมาะสม เป็นระเบียบ สะอาด และมีความเป็นอยู่แบบพอเพียงมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนตำนานความเป็นมาของชุมชน และมาจากผลผลิตของชุมชนที่มีจุดขาย
๓.ภูมิวงศ์ ชุมชนบ้านหนองบัว มีระบบการสืบทอดเชื้อสาย การสืบทอดระบบเครือญาติมานาน ทำให้ทั้งหมู่บ้านรู้จักกันเกือบหมด ซึ่งมีตระกูลใหญ่ๆ เช่น ปรารมภ์ อินต๊ะแสน ภิมาลย์ จันต๊ะยอด เทพเสน ท้าวฮ้าย ฯลฯ การทะเลาวิวาทจึงมีน้อย
๔.ภูมิธรรม ประเพณีที่ชาวไทลื้อปฏิบัติสืบทอดกันทุกๆ ๓ ปี เป็นประเพณีเลี้ยงเทวดาหลวง หรือเจ้าหลวงเมืองล้าซึ่งมีบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองล้าเรียกว่า “ประเพณีกำเมือง” หรือ ๓ ปี ๔ รวงข้าว (คือก่อนปลูกข้าวครั้งที่ ๔) โดยชาวไทลื้อจะต้องเข้าพิธี “เข้ากรรม” ห้ามออกจากหมู่บ้านตลอด ๓ วัน และห้ามคนต่างถิ่นเข้ามาในหมู่บ้าน ประเพณีจะเกิดขึ้นเดือนขึ้น ๑๓ ค่ำ หรือประมาณเดือนธันวาคม ซึ่งในพิธีจะมีการถวายหมู ๒ ตัว ควาย๑ ตัว วัว ๑ ตัวและ ไก่ ๑๒ ตัว เพื่อเลี้ยงเทวดาในวันที่ ๒ ของงาน ประเพณีนี้ลูกหลานที่ไปอาศัยต่างพื้นที่จะเดินทางกลับมาร่วมพิธีกรรม
๕ ภูมิปัญญา มีภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ภาษาไทลื้อ
ด้านศิลปวัฒนธรรม มีจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว ซึ่งเป็นภาพเขียนจันทรคราสชาดก เป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งคนวาดมาจากลาวพวน มีอายุประมาณ ๑๕๔ ปี (พ.ศ.๒๔๑๐)
ด้านการแต่งกายมีการใช้ผ้าทอไทลื้อ ซึ่งมีตำนานมาตั้งแต่ก่อตั้ง มีปรากฎในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว โดยมีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ ซิ่นม่านลายยกดอก ซิ่นม่านลายมัดก่าน
ด้านอาหารที่หลากหลายและที่ขึ้นชื่อคือ สาหร่ายไก ซึ่งเป็นสาหร่ายท้องถิ่น จะมีอยู่ในเฉพาะที่แหล่งน้ำไหลผ่านและมีความสะอาดโดยแปลรูปออกเป็น ห่อนึ่งไก ไกแผ่น ไกหยี่ คั่วไก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชุมชน และมีอาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อใช้รับรองนักท่องเที่ยว เช่น แกงแคปลาย่างจากผักสมุนไพรพื้นบ้าน ไข่โอม (ไข่ปาม) เป็นต้น
ด้านดนตรีซะล้อ ซอ ปิน เป็นดนตรีพื้นเมืองล้าน ฟ้อนไทลื้อ ฟ้อนปั่นฝ้าย รวมถึงด้านการทำบายศรีสู่ขวัญ บ้านจำลองไทลื้อมีจำนวน ๒หลังที่วัดหนองบัว และโฮมสเตย์บ้านไทลื้อ เนื่องจากเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเนื่องจากบ้านมีสภาพเก่าและเกิดน้ำท่วม จึงมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
ด้านสมุนไพร สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จะนำสมุนไพรมาใช้ประกอบอาหาร เพื่อเป็นการรักษาอาการป่วยอีกทางหนึ่ง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
จากวิถีชีวิต ๕ ภูมิวัฒนธรรมได้นำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาให้คนในชุมชนได้เรียนรู้จึงได้เข้าโครงการ“สร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง”ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๙ เพื่อผูกสายใยได้เรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อ แม่ ลูกและหลาน ตลอด ๓ ปี ซึ่งได้ดำเนินการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยใช้เวลาช่วงบ่ายจนถึงกลางคืนของวันเสาร์ อาทิตย์ เช่น ประวิติศาสตร์ชุมชน ผังเครือญาติ เลี้ยงลูกให้ถูกทางการทำบัญชีชีวิต(รายรับรายจ่าย) ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ตื่นแต่อย่าเต้น (ได้รับเป็นหมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยงบประมาณ ๑๐ ล้าน ของกรมพัฒนาชุมชน ร่วมใจกู้วิกฤติหลังน้ำท่วม
ความท้าทาย
เมื่อ วันที่ ๑๙- ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เกิดน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ ๖๐ ปี ซึ่งบ้านหนองบัวได้เปิดตัวเป็นหมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพียง ๓ เดือนกว่า (๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙) หมู่บ้านได้รับความเสียหายอย่างมากมาย แต่ด้วยความเป็นไทลื้อที่มีความอดทนและความสามัคคี จึงได้ ร่วมใจเรียนรู้การกู้วิกฤติหลังน้ำท่วม ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกันอีกทั้งได้นำกิจกรรมต่างๆในชุมชนที่ได้เรียนรู้ เช่น การทำบัญชีชีวิต การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของว่างในงานสีดำ รวมถึงการพนันทุกชนิด มีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์กลุ่มแม่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเจ้าหลวงเมืองล้า กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนฌาปนกิจ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกเพื่อการผลิตด้านการเกษตรและการศึกษาบุตร
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและบ้านเกิด รวมถึงการให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เช่นเคย ดัง ๕ ภูมิวัฒนธรรม ที่ได้สืบทอดสิ่งเหล่านี้สู่รุ่นลูกหลานต่อไป
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนมีการวางกฎระเบียบที่คนในชุมชนยอมรับและปฏิบัติด้วยกันอย่างมีความสุข อีกทั้งยอมรับกับผลที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ไม่ละเลยวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน
คำขวัญประจำคุ้ม
คุ้มที่ 1 อนุเสาวรีย์ สดุดีเจ้าหลวง รวมใจทุกดวง ปวงชนไทลื้อ
คุ้มที่ 2 หนองหลงน้ำใส ไร่นาเขียวขจี ผู้คนใจดี ไมตรีแจ่มใส
คุ้มที่ 3 ร้านค้าชุมชน ผู้คนจับจ่าย ซื้อขายมากมาย หลากหลายชุมชน
คุ้มที่ 4 ข่วงเมืองกลางบ้าน สืบสานประเพณี งามดีผ้าทอ ศูนย์สะล้อซอปิน
คุ้มที่ 5 วัดหนองบัวเป็นศรี กลุ่มไกยีเลิสล้ำ นำความสามัคคี เป็นที่เลื่องลือ
ผู้ติดต่อในพื้นที่
ผู้ประสานงาน นางนัทธมน คำครุฑ
๐๘๙ ๙๕๔๕๔๙๐
แสดงความคิดเห็น