“ชุมชนวัดพระธาตุขิงแกงปลอดภัย
ด้วยใจที่พอเพียง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนวัดพระธาตุขิงแกงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก รองลงมาเป็นการรับจ้าง คนในชุมชนใช้ภาษาพื้นเมือง มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่าย มีวินัยในการอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเกิดการความเปลี่ยนแปลงจึงส่งผลกับบริบทของชุมชน ทำให้เกิดกระแสทุนนิยม เกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เกิดความแตกแยกในสังคม การผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายมีการใช้สารเคมี มีคนบางกลุ่มออกไปทำงานต่างที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคุณธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้คนในชุมชนเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ให้คุณค่ากับความเป็นไทยจากแนวคิดดังกล่าวจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนวัดพระธาตุขิงแกง เพื่อเป็นการเสริมสร้างคนให้มีการเรียนรู้วิชาการและทักษะที่จำเป็น เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเสริมสร้างคุณธรรม จนมีความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เกิดเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิต สามารถคิดและทำบนพื้นฐานของความมีเหตุผล พอประมาณ จนสามารถเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น โดยมีกลุ่ม“ชุมชนวิถีพอเพียง ด้วยเกษตรพุทธะ”เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนด้านชุมชนคุณธรรมบนวิถีพอเพียง โดยเริ่มจากชุมชน สู่ชุมชน และมีปราชญ์ชาวบ้านด้านเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะ และได้แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนคุณธรรมวัดพระธาตุขิงแกง เพื่อบริหารจัดการตนเองเมื่อปี ๒๕๕๔ มีเป้าหมายพัฒนาทั้ง ๔ ด้าน โดยใช้ยุทธศาสตร์ ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ ประกอบด้วย
๑.ด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้หนี้สินของคนในชุมชนลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริม จึงเกิดกลุ่มอาชีพต่างๆขึ้นมา เช่น ผ้าทอพระธาตุขิงแกง
๒.ด้านสังคม การศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มจิตอาสาในการพัฒนาชุมชนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ
๓.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีการทำข้อตกลงร่วมกันในชุมชน อนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน มีการบริหารจัดการขยะ ลดการใช้สารเคมี ดูแลป่าต้นน้ำของชุมชนที่มี ให้เกิดคุณค่าสูงสุด
๔.ด้านสุขภาพ คนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ มีโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพอยู่ตลอดเวลา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต้องมีมาตรฐาน บริการที่มีคุณภาพ พึ่งได้ ชุมชนมีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพโดยอาสาสมัครของชุมชน
ความท้าทาย
พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเกิดน้ำท่วมบ่อยพืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย จึงมีการนำการเกษตรแบบผสมผสานมาปรับใช้ เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและพัฒนาอาชีพ อีกทั้งเรื่องของข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ด้วยคนในชุมชนช่วยเหลือกันด้วยจิตอาสาและประกอบกับการช่วยเหลือบูรณาการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหลากหลายหน่วยงาน จึงทำให้ชุมชนคุณธรรมวัดพระธาตุขิงแกงสามารถดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมได้อย่างยั่งยืน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
การมีส่วนร่วมของพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ส่งผลให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงในชุมชน เกิดเป็นความสามัคคี ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง โดยการใช้หลักธรรมทางศาสนาซึ่งมีวัดพระธาตุขิงแกงเป็นศูนย์กลางและเป็นแกนหลักริเริ่มส่งเสริมคุณธรรมในเชิงรุกทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในเจตนารมณ์และหลักคุณธรรมร่วมที่จะยึดมั่นในแนวทางเดียวกันคือ ความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา รับผิดชอบและเกื้อกูล ในสิ่งที่ขาดแคลน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข อีกทั้งมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพร้อมเสริมฐานรากเศรษฐกิจของชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
การมุ่งมั่นนำคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และรับผิดชอบ มาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว สร้างพลเมืองที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยใช้แนวทางการระเบิดจากข้างใน ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีคุณธรรมเป็นฐานในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติงานสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมและประเทศชาติต่อไป สร้างความกินดี อยู่ดีของคนในชุมชน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ยึดการทำเกษตรแบบผสมผสานตามศาสตร์พระราชาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ รวมทั้งการพัฒนาอาชีพรอง คือ การทำสวนยางพารา พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดโดยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีในชุมชนมาส่งเสริมสนับสนุน ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิถีวัฒนธรรมและเกษตรกรรมที่จะส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานขยายผลให้แก่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระสัตยา สจฺจาภิจินฺโณ ๐๘๒-๑๘๒-๒๗๙๒
แสดงความคิดเห็น