“ชุมชนรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
หน้าบ้านสะอาด อากาศแจ่มใส
กิ๋นผักปลอดภัย ม่วนใจ๋ที่สันทางหลวง”
จุดเริ่มต้นของความสำเร็จนั้นคือประชากรในชุมชนบ้านสันทางหลวงร้อยละ ๙๐ เป็นชาวไทยอง เดิมชุมชนมีปัญหาหลากหลาย เช่น ปัญหาการทิ้งขยะ รายจ่ายครัวเรือนสูง รายได้เสริมยังไม่กระจายเป็นประโยชน์ในวงกว้าง แม้จะพยายามพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ผู้นำและคณะกรรมการชุมชนจึงเกิดความคิดในการที่จะร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว และในปลายปี ๒๕๕๖ ได้ร่วมดำเนินต่างๆ เช่น โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน เป็นต้น มีการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนทำให้ชุมชนบ้านสันทางหลวง เป็นชุมชน “หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่าดู”
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านสันทางหลวง เป็นชุมชนที่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็น "วิถีไทย วิถียอง" ที่มีเสน่ห์ทั้งผู้คน และสถานที่ ปี ๒๕๕๘ กระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เลือกชุมชนบ้านสันทางหลวงเป็นเป้าหมายของการพัฒนาหมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานแรก ที่เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอด นำอัตลักษณ์วิถีไทย วิถีคนยอง มาเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้แก่คนในชุมชน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชุมชนเกิดการรวมตัว รวมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็ง พึ่งพาและพัฒนาตนเอง พัฒนาบ้านเกิด จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
เมื่อต้นปี ๒๕๖๐ บ้านสันทางหลวงได้เข้าร่วมโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มุ่งหวังให้คนในชุมชนทุกคนเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้จักพอเพียง พออยู่พอกิน ภาคภูมิใจ รักษาหวงแหน วัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนีนมประเพณีของชาวไทยอง
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการมักจะเกิดอุปสรรคและปัญหามาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ต่างคนไม่เข้าใจในกระบวนการ วิธีการทำงาน หรือรายละเอียดของงาน บางกลุ่มยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นประโยชน์ และไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังทำ อีกประการหนึ่ง คือ เป็นสังคมชุมชนผู้สูงวัย
ผลลัพธ์แห่งการพัฒนา
หลังจากชุมชนได้นำหลักการพัฒนาชุมชนคุณธรรมมาใช้ โดยการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะทำให้ชุมชนเป็น “ชุมชนรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หน้าบ้านสะอาด อากาศแจ่มใส กิ๋นผักปลอดภัย ม่วนใจ๋ที่สันทางหลวง” ทุกคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบ้านของตนเอง และร่วมเป็นคณะทำงานของชุมชน ปัจจุบันปัญหาของชุมชนหมดไป มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ รับการยอมรับ และคำชื่นชมจากผู้ที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงาน ท่องเที่ยวในชุมชน และยังมีการรวมกลุ่มพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุ (โรงเรียนประถมเก่าในชุมชน) เป็นลานวัฒนธรรม และปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP อีกทั้งมีการรวมกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม ช้อป ชิม และร่วมกิจกรรมผลิตสินค้าชุมขน มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นสวัสดิการของชุมชน ป้องกันการกู้ยืมหนี้นอกระบบ ในการดำเนินงานปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ประสบความสำเร็จคือ “พลังบวร” ที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ผู้นำและคนในชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านสันทางหลวง ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินตามเจตนารมณ์ชุมชนที่ได้ประกาศร่วมกันตามวิถีไทย วิถียอง สันทางหลวง ภายใต้การเป็นชุมชน หน้าบ้านน่ามอง ในบ้านน่าอยู่ หลังบ้านน่าดู ทุกครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ โดยใช้พื้นที่ริมรั้วหน้าบ้านที่ว่างในบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ กินเอง และร่วมกันปลูกไม้ผลริมทาง แบ่งพื้นที่ให้แต่ละครัวเรือนดูแล รักษา ผลผลิตที่ได้เป็นของทุกคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นเสน่ห์ของชุมชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในชุมชน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวไม่ได้ทำขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาสมาชิกในชุมชน ให้สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ที่มีเฉพาะในชุมชนตนเอง ตลอดถึงพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่ชุมชนมีอยู่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นายดุสิต ต๊ะต้องใจ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน
สันทางหลวง โทรศัพท์ ๐๘๗ ๕๗๙ ๖๘๗๘
นางสังเวียน ปรารมภ์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยว
โทรศัพท์ ๐๘๖ ๙๒๒ ๕๖๗๙
แสดงความคิดเห็น