community image

ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคํา

อ.ลี้ ต.ลี้ จ.ลำพูน
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 3 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“วัดพวงคำลือเลื่อง ฟูเฟื่องวัฒนธรรม

ประวัติศาสตร์ลือล้ำ สวยเด่นนำผ้าจกโหล่งลี้

สืบสานวิถีสู่ชุมชน”



กว่าจะมาเป็นวันนี้

ชุมชนบ้านปวงคำ เป็นชุมชนคนเมือง (ไทยวน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมนั้นส่งผลต่อชุมชนทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป มีการย้ายถิ่นฐานออกนอกชุมชนมากขึ้น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตลอดจนการช่วยกันซึ่งกันและกันลดลง เด็กและเยาวชนให้ความสำคัญกับวัตถุ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมในชุมชนขาดการสืบทอดอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยสาเหตุนานัปการ พระครูวิจิตรปริยัติการ เจ้าอาวาสวัดพวงคำ จึงมีความประสงค์ให้ชุมชนบ้านปวงคำกลับมาเป็นชุมชนที่น่าอยู่และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี โดยใช้พลังบวรมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชน ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนลดลง เกิดความดีงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนสามารถเป็นแบบอย่างอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ 

ชุมชนคุณธรรมบ้านปวงคำ ได้ดำเนินการตามเกณฑ์ในการพัฒนาชุมชนคุณธรรม ๙ ขั้นตอน ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) โดยเริ่มจากร่วมกันจัดทำประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เป็น  ชุมชนคุณธรรม รวมทั้งกำหนดปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมของชุมชน อาทิ โครงการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ โครงการสืบสานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีจกโหล่งลี้ ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ตลอดจนนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางเศรษฐกิจ ซึ่งระหว่างการดำเนินโครงการต่างๆ จะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ตลอดจนปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งในการดำเนินการนอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักศาสนานำมาเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตให้พออยู่พอกิน และวิถีวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ชุมชนคุณธรรมวัดปวงคำสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในการดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมแก่ชุมชนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยกระบวนการที่ได้กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากความสมัครสมานสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการต่างๆของชุมชนนั่นเอง


นอกจากนี้แล้วชุมชนวัดพวงคำซึ่งเป็นชุมชนไทยวนมีการปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง มีการพูดด้วยภาษาถิ่นเป็นกิจวัตร แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองในวันสำคัญของชุมชน มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงงานประเพณีต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมให้คนในชุมชนเกิดความรักสามัคคี นำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป


ความท้าทาย

การพัฒนาชุมชนคุณธรรมต้นแบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกของชุมชน โดยในชุมชนส่วนใหญ่ต้องมีความเห็นพ้องต้นกันจึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต้องศึกษารูปแบบและวิธีการที่มีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาชุมชนคุณธรรมอย่างยั่งยืนจะขาดส่วนร่วมจากพลัง “บวร” (บ้าน-วัด-โรงเรียน/ราชการ) มิได้ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน อีกทั้งการพัฒนาชุมชนคุณธรรมอย่างยั่งยืนต้องสามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหากพัฒนาชุมชนไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนได้ความยั่งยืนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         จากการเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ส่งผลให้ชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เกิดสิ่งดีงามในชุมชนมากยิ่งขึ้น ไม่มีปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการทะเลาะวิวาท สิ่งเสพติดลดลง คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ตลอดจนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน สามารถจุนเจือตนเอง และครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ที่มี หรือที่ได้จากการดำเนินงานไปสู่ชุมชนเครือข่ายอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

จากการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จของชุมชนคุณธรรมวัดพวงคำ จึงมีการวางเป้าหมายในการดำเนินการในอนาคต คือ การสร้าง Brand ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อนำรายได้มาสู่ชุมชนจากการดำเนินงาน กิจกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การจำหน่ายอาหาร เป็นต้น โดยผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์ชุมมชนผ่านทางสื่อออนไลน์ การสร้าง Land Mark ของชุมชน การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวภายในชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืนสืบไป


ผู้ติดต่อในพื้นที่

นางสุนีย์ ทองสัมฤทธิ์ กรรมการชุมชน

๐๘๖-๑๘๐-๐๒๘๘


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางสุนีย์ ทองสัมฤทธิ์ กรรมการชุมชน ๐๘๖-๑๘๐-๐๒๘๘

แสดงความคิดเห็น

profile