ชาวบ้านภูสามัคคี สืบวิถีแบบพอเพียง
เด่นชื่อเสียงศูนย์เรียนรู้ ฟื้นฟูวัฒนธรรมผู้ไทย
รักษ์ใส่ใจในพิพิธภัณฑ์ ภูสวรรค์ถิ่นรื่นรมย์
เที่ยวเพลินชมหมู่บ้านโฮมสเตย์”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านภูเป็นชาติพันธุ์ผู้ไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เนื่องด้วยโรคระบาดจึงทำให้มีการอพยพอีก ๒ ครั้ง นำโดยเจ้าสุโพสมบัติซึ่งนับว่าเป็นผู้นำคนแรก เมื่อเจ้าสุโพสมบัติถึงแก่กรรม ชาวบ้านหลุบภูได้เลือกเจ้าวรสาร (แสง) ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าสุโพสมบัติขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา และเมื่อทางราชการได้จัดระเบียบการปกครองประเทศ โดยมีการสำรวจพื้นที่ของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ เจ้าวรสารจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านภู (ตัดคำว่าหลุบออก) จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนบ้านภูมีผู้นำหมู่บ้านทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการรวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๕ คน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ความสำเร็จของชุมชน หลักสำคัญคือบทบาทของผู้นำที่เข้มแข็ง ชุมชนมีความรัก ความสามัคคีเป็นหนึ่งใจเดียวกัน กอปรเป็นหมู่บ้านที่มีทิวทัศน์ภูเขาล้อมรอบ ผืนป่าพื้นดินอุดมสมบูรณ์ ภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร การทำนาปลูกข้าว พืชพันธุ์ต่างๆ ผลผลิตออกมามีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ปลูกข้าวเหนียวเป็นหลักไว้รับประทาน วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัว หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวตามหน้าบ้านและหลังบ้าน การแต่งกายเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้ชายนุ่งโสร่งไหม หรือฝ้าย สวมเสื้อเย็บมือย้อมครามหรือใช้สีกรมท่าหรือดำ ปักษ์ลวดลายต่างๆ ด้วยมือแม่บ้านสวยงาม ใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบมัดเอว ทุกคนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
พลังบวรชุมชนคุณธรรมบ้านภู ชุมชนบ้านภู เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยอาศัยบุคคลในชุมชนคือ “พลังบวร” ร่วมกันคิดร่วมกันทำการบริการไปพร้อมๆ กับกระแสการท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการของชุมชน คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิดการท่องเที่ยวในชุมชนที่หลากหลายและยั่งยืน ดังนั้นงานการบริการต้องทำให้เกิดความประทับใจ เชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เช่น ความสนุกสนาน ความปลอดภัย ความเข้าใจ ความสามัคคีในหมู่เหล่าของชุมชน เมื่อกลับไปแล้วก็ต้องหาวิธีกลับมาใหม่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าผู้ไทย ว่าเขาพัฒนาไม่เหมือนใคร
ความท้าทาย
สังคมในปัจจุบันนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง กอปรกับชาวบ้านภู นิยมส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง ครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐ บุตรหลานมีอาชีพรับราชการ เป็นพนักงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และประกอบอาชีพส่วนตัว ชุมชนจึงใช้สถาบันครอบครัวเป็นหลักในการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมรุ่นสู่รุ่น ให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้แสดงออก มีเวทีและกิจกรรมการแสดง ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามสืบต่อกันมา
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ มีวัดศรีนันทาราม เป็นศูนย์รวมความศรัทธา มีการจัดกิจกรรมทางศาสนา มีการถ่ายทอดธรรมะที่บูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมจริยธรรมไปกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในครัวเรือน มีพระครูนันสารโสภิต เจ้าอาวาสวัด ที่เป็นผู้นำหลักสำคัญในการพัฒนาชุมชน โดยชุมชนใช้หลักการ “บวร” การมีส่วนร่วม มีความสามัคคี การมีจิตสาธารณะสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ชุมชนไม่มีปัญหาอบายมุข รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รู้รักสามัคคี เสียสละ และกตัญญูรู้คุณ
คนในชุมชนนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ ร่วมกันจัดตลาดวัฒนธรรมบ้านภู จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนใช้หลักการอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ คนในชุมชนได้รับข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงและมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ โดยพลังบวร มีส่วนร่วมคิด ร่วมรับผลประโยชน์ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน เกิดเป็นสังคมคุณธรรม ที่มีความรักสามัคคี มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
คนในชุมชนสืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ร่วมกันส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง สืบทอดและอนุรักษ์มรดกทางประเพณีวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้และจำหน่าย มีการรวมกลุ่มอาชีพ มีแหล่งเรียนรู้ มีเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คนในชุมชนมีอาชีพ มีสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม มีที่พักบริการนักท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ทำให้ชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น และหนี้สินลดลง
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมบ้านภู ได้กำหนดทิศทางร่วมกันโดยปรับตัวตามวิถีชีวิตใหม่ ให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเสน่ห์ของชุมชนด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ร่วมกันรักษาแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวสม่ำเสมอ เพื่อรักษามาตรฐานของชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ข้อมูลการติดต่อ
นายถวัลย์ ผิวขำ ประธานโฮมสเตย์บ้านภู
๐๘๗-๒๓๐-๑๕๙๙
แสดงความคิดเห็น