“ชุมชนศรีบุญเรือง ชุมชนวิถีพุทธ”
ชุมชนศรีบุญเรืองเป็นชุมชนเก่าแก่เล็กๆ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองแพร่ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม มีประชากรแฝงจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเพราะลูกหลานไปทำงาน และเรียนในต่างจังหวัด มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยแบบพี่แบบน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นชุมชนวิถีพุทธที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลาง มีการปฏิบัติธรรม เป็นวัดแห่งแรกในจังหวัดแพร่ ที่ได้สอนวิปัสสนากรรมฐานโดยพระอาจารย์จำลอง กิติสาโร เจ้าอาวาสเมื่อปี ๒๕๐๐จนถึงปัจจุบัน และมีพิธีที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดคือพิธีถวายกองทาน เดิมทำพิธีอาทิตย์ละ ๑ ครั้งแต่ปัจจุบันเปลี่ยนตามสภาพของสังคมเป็นเดือนละ ๑ ครั้ง พิธีถวายกองทานเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ๓ กองทานคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี สืบทอดพุทธศาสนาแบบวิถีพุทธ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนศรีบุญเรืองเป็นชุมชนนับถือพระพุทธศาสนา เป็นชุมชนวิถีพุทธ มีการทำบุญตักบาตรทุกวันพระ และประเพณีวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะพิธีถวายกองทาน โดยพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะพาลูกหลานมาด้วยเพื่อให้พระอบรมสั่งสอน เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีล ๕ ฝึกนั่งสมาธิ ทำให้เรามีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ ปลูกฝังจิตใต้สำนัก ตลอดจนการนำไปปฏิบัติจริง ทำให้เด็กเยาวชนในชุมชนเป็นเด็กดีประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา มีอาชีพที่มั่นคง มีการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และทำสวนผักชุมชนที่ประสบความสำเร็จ โดยขยายไปยังครัวเรือนต่างๆ ในชุมชน มีการบริหารงานชุมชนโดยใช้หลักธรรมภิบาล ทำให้ชุมชมเข้มแข็ง เคยได้รับรางวัลที่ภาคภูมิใจ คือรางวัลชุมชนประชาธิปไตยตัวอย่าง ประจำปี 2550 จากสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
เกิดการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนก็เอื้ออำนวย ไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มียาเสพติด เด็กเกเร คนในชุมชนมีภูมิคุ้นกัน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดี
มีวินัยเรื่องกองทุนหมู่บ้าน สมาชิกส่วนใหญ่จะจ่ายเงินกู้ยืมตรงเวลา ไม่มีหนี้สูญ มีคณะกรรมการที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบร่วมปฏิบัติงาน มีการประชุมทุกเดือน ถ้ามีปัญหาก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดและมีวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง
คณะกรรมการชุมชนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญจากหลายฝ่าย ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ประชาชนในชุมชน คณะกรรมการชุมชน มีจิตสาธารณะ อุทิศตนเพื่อมาทำงานเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนโดยไม่หวังผลตอนแทน เสียสละทั้งแรงกายเงินทอง ตลอดจนการบำเพ็ญประโยชน์ ดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม มีความคิดทัศนคติที่ตรงกัน ตลอดจนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี
การดำเนินชีวิตชองชุมชนตามวิถีพุทธ เกิดความสงบร่มเย็นขึ้นภายในชุมชน ประชาชนมีความรักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน มีอาชีพที่สุจริต รักษาประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น เช่น พิธีถวายกองทาน มีประชาชนภายในชุมชนและชุมชนอื่นภายนอกมาร่วมด้วยถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชน
เป็นที่ยอมรับของชุมชนอื่นๆ และชุมชนที่อยู่ต่างอำเภอ มีการให้ความสนใจขอร่วมพิธีถวายกองทานและปฏิบัติธรรมโดยนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลที่บ้านร่องกาศใต้เช่น จัดการอบรมปฏิบัติธรรม และบางส่วนยังขอมาเข้าร่วมกับทางวัดเหมือนเดิม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ความมุ่งมั่นพยายามที่จะขยายผลภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชนต่อสังคมภายนอก ให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากชุมชนท้องถิ่นตนเอง ไปขยายผลต่อในที่อื่นๆ จนพัฒนาคนรุ่นใหม่ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จ มีการพัฒนาทีมงาน มีสื่อ มีฐานการเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานขององค์กรภายนอก พร้อมสร้างนวัตกรรมการพัฒนาให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
โดยคาดหวังอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ มาสืบทอดขนบธรรมเนียมที่ดีของท้องถิ่น นอกจากการเป็นชุมชนวิถีพุทธแล้วผู้ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มสตรี จัดทำโครงการโดยนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาขยายผลอบรมให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เช่น การทำตุงโบราณ การจีบผ้า การทำสบู่สมุนไพร การทำไข่เค็ม การทำผ้ามัดย้อมแปรรูป พร้อมขยายผลไปสู่การทำการตลาดที่สามารถขายสินค้าชุมชนได้
ผู้ประสานงานในพื้นที่
เทศบาลเมืองแพร่ อำเภอเมืองแพร่จังหวัดแพร่
ผู้ประสานงาน : นางสาวสุพรรณี มีชัย ตำแหน่ง นักพัฒนาชุมชน
โทร ๐๕๔ ๖๒๑-๐๘๐ , ๐๖๔ ๐๔๙ ๕๙๒๘
แสดงความคิดเห็น