กว่าจะมาเป็นวันนี้
บ้านต้นยางนั้นประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย เกษตรกรรม มีตลาดสดเอกชนขนาดใหญ่ ๑ แห่ง (มีแผงจำหน่ายอาหาร ๒๕๐ แผง) สภาพปัญหาที่พบภายในชุมชนคือ มีการทิ้งขยะไม่ถูกที่ มีขยะตกค้างในที่สาธารณะและริมแม่น้ำ มีการใช้ถุงพลาสติกและโฟม มีเศษผักผลไม้เป็นจำนวนมาก มีกลิ่นเหม็นจากการทิ้งเศษอาหาร น้ำมันทอดซ้ำลงในท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาขยะและเศษกิ่งไม้ใบไม้
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เส้นทางความสำเร็จเริ่มต้นจากเทศบาลเมืองพิชัยไม่มีสถานที่ทิ้งขยะเป็นของตนเองอีกทั้งขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น กอปรประชาชนขาดความตระหนัก และไม่มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จึงได้มีการจัดทำโครงการรณรงค์คัดแยกขยะมูลฝอยชุมชนและโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองพิชัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางตามหลัก 3Rs (Reduce การใช้น้อย Reuse การใช้ซ้ำ Recycleการนำกลับมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมชุมชนสะอาด น่าอยู่อาศัย และเพื่อให้เกิดชุมชน/โรงเรียนต้นแบบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีสภาพปัญหาเรื่องขยะมากที่สุด และเป็นหมู่บ้านที่มีแกนนำเข้มแข็ง เพื่อเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีการแก้ไขปัญหาได้จริง จึงเลือกบ้านต้นยางหมู่ที่ ๔ เป็นหมู่บ้านเป้าหมายโดยมีขั้นตอนการปฏิบัติหรือกระบวนการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ดังนี้
๑. วิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา (โดยใช้ SWOT และ TOWS Matrix)
๒. มีการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา
๓. การดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยใช้การประชุม/ประชาคม สำรวจข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล คืนข้อมูล กำหนดกฎกติการ่วมกัน จนเป็นธรรมนูญสุขภาวะชุมชน และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนที่วางไว้
๔. การควบคุมกำกับตรวจสอบ และปรับปรังรวมถึงการประเมินผล
จนเกิดเป็นองค์ความรู้ (Knowledge management) คือ สอนให้รู้ -> ทำให้ดู-> สร้างจิตสำนึกการรับรู้ -> พัฒนาข้อมูล นวัตกรรม แหล่งเรียนรู้ -> ใช้กฎหมู่บ้านบังคับ -> ตรวจจังจริงจัง -> สร้างพลังเครือข่ายจิตอาสาร่วมพัฒนา
ความท้าทาย
ความไม่พร้อมของชุมชน ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการคัดแยกขยะ เศรษฐกิจครัวเรือนมีผลต่อความร่วมมือของคนในชุมชน กฎหมายการจัดการขยะซับซ้อนไม่ครอบคลุม ขยะมีความหลากหลายทาง บางประเภทศูนย์จัดการขยะมูลฝอยไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากแก้ต่อการกำจัด
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
พอเพียง – คนในชุมชนมีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้องค์ความรู้ที่เกิดจากการจัดการขยะในชุมชน เช่นปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภค (ใช้ปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพ) สร้างอาชีพและรายได้จากกิจกรรมการคัดแยกขยะ รวมถึงชุมชนสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมดี ปราศจากมลภาวะ เกิดความสามัคคีมีการดำเนินงานเป็นหมู่คณะ
วินัย – เกิดธรรมนูญสุขภาวะชุมชนบ้านต้นยางว่าด้วยการจัดการขยะซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายหรือระเบียบที่สร้างขึ้นเพื่อให้ชุมชนมีการปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้อำนาจแก่ผู้ใหญ่บ้านในการเปรียบเทียบปรับในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาของหมู่บ้านเป็นการสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน
สุจริต – เมื่อมีเครื่องมือให้ประชาชนปฏิบัติร่วมกันจะก่อให้เกิดการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถตรวจสอบได้มีความถูกต้องสุจริต โปร่งใส โดยใช้หลักการทำงาน 5 ก.ได้แก่กลุ่ม กรรมการ กฎกติกา กองทุน/กิจกรรม และการกำกับติดตาม
จิตอาสา - บ้านต้นอย่างมีกลุ่มจิตอาสาที่เกิดจากการดำเนินการนวัตกรรมธรรมนูญสุขภาพชุมชนบ้านต้นยาง เช่น กลุ่มคัดแยกขยะบ้านต้นยาง กลุ่มธนาคารวัสดุรีไซเคิล กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันทอดซ้ำ กลุ่มอัดก้อนขยะพลาสติก กลุ่มขยะปลอดสารพิษ และกลุ่มจิตอาสาท้องถิ่นรักษ์โลก ทำให้ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานได้
กตัญญู – ประชาชนมีความสามัคคี สร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น กิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล สร้างความตระหนักให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อนำขยะมาขายหรือมาบริจาค เป็นการสร้างวินัยการออมชุมชน นำเงินรายได้บางส่วนไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ รวมถึงดูแลผู้ด้อยโอกาส เยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือยากไร้ เป็นต้น
ผลลัพธ์อันเป็นที่ประจักษ์ภายหลังจากการดำเนินงานเช่น ปริมาณขยะลดลง มีกองทุนขยะรีไซเคิล มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะชุมชนเป็นระเบียบปราศจากอบายมุขเรื่องสาร เป็นแหล่งศึกษาการเรียนรู้และศึกษาดูงาน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ต้องการพัฒนาแกนนำวิทยากรชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัวชุมชนด้วยการเพิ่มองค์ความรู้และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเสริมกิจกรรมที่กำลังดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโดยเข้าร่วมกิจกรรมทุกขั้นตอน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและกิจกรรมมีความยั่งยืน สามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชนขยายผลชุมชนต้นแบบไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ เป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ได้
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นางนิดา นันต๊ะกูล ๐๘๑-๔๗๓-๑๔๐๓
แสดงความคิดเห็น