“บริหารกองทุนอย่างมีธรรมาภิบาล
ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคลองทับจันทร์”
ตำบลคลองทับจันทร์ แบ่งเป็น ๑๐หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด ๔,๘๐๗ คน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา รองลงมาประกอบอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป ด้วยชุมชนมีปัญหาเรื่องความยากจน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลคลองทับจันทร์และแกนนำของหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน จึงจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองทับจันทร์ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อให้ประชาชนในตำบลได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กองทุนสวัสดิการเกิดจากเงินสมทบจากสมาชิก รัฐบาล สถาบันพัฒนาชุมชน (พอช.) ท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ และอื่นๆ อาทิ ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยธนาคาร เงินบริจาค
วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ
เพื่อการปลูกฝังนิสัยของประชาชนในตำบลให้รู้จักการออมเงิน วันละ ๑ บาท
๑. เพื่อปลูกฝังคุณธรรม ความซื่อสัตย์การพึ่งตนเอง ความรับผิดชอบ ความสามัคคี และเอื้ออาทร โดยใช้หลักศาสนาและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๒. เพื่อวางแผนอนาคตในวันข้างหน้าให้ครอบครัวได้มีสวัสดิการ
๓. เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออมทรัพย์ วันละ ๑ บาท เพื่อส่งเสริมเป็นแกนนำในอนาคต
๔. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ หรือแรงจูงใจให้สมาชิกได้ปฏิบัติกิจกรรมช่วยงานสังคมและส่วนรวม
๕. เพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง ชาวบ้านกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองทับจันทร์ร่วมกับผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีและมีธรรมาภิบาลของกองทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของสมาชิกกองทุน และมีเป้าหมายให้กองทุนใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยแบ่งจัดการการเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๕๐ จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตามข้อบังคับ
ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ของกองทุนและสมาชิก
ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๒๐ ทุนสำรององค์กรสวัสดิการชุมชน การบริหารกองทุน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
สร้างระบบดีมีคุณธรรม
๑)การเชื่อมโยงการจัดสวัสดิการร่วมกับหน่วยงานภาคีอื่นๆ การทำงานบูรณาการเชื่อมโยงภาคีหน่วยงานและกลุ่มองค์กรทั้งภายในและภายนอกตำบล อาทิ สภาองค์กรชุมชนตำบลคลองทับจันทร์ ชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล
๒)องค์ประกอบของกรรมการสวัสดิการ ซึ่งมีคณะกรรมการทั้งสิ้น ๑๕ คน มาจากผู้นำท้องที่ ๒ คน ผู้นำท้องถิ่น ๔ คน ผู้นำชุมชน ๖ คน และเครือข่ายอสม. ๓ คน
๓)จัดระบบการจัดทำบัญชี ได้มีการบันทึกสมุดรายวันรับ สมุดรายวันจ่าย สมุดบัญชีแยกประเภททั่วไป ตามมาตรฐานการบัญชีสากล
๔)การรับเงินจากสมาชิก จัดให้มีคณะกรรมการกองทุนที่มาจากแต่ละหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการรับเงินและจ่ายเงินแก่สมาชิก
๕)การจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิก คณะกรรมการหรือสมาชิกแต่ละหมู่บ้านจะต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเบิกสวัสดิการ พร้อมกับใบสำคัญรับเงิน
๖)มีระบบการตรวจสอบ ให้มีการตรวจสอบบัญชีโดยคณะกรรมการ และตรวจสอบบัญชีโดยปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกับนักพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถมาตรวจสอบได้
ตัวอย่างระบบการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล
๑)มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำฐานข้อมูลสมาชิกในฐานข้อมูลโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลในสมุดบันทึกข้อมูล
๒)มีการระบบติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานที่ชัดเจน
๓)มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ
จากระบบการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ การมีส่วนร่วม คุณธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ เป็นการย้ำว่า “บริหารกองทุนอย่างมีธรรมาภิบาล ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนคลองทับจันทร์” ได้อย่างแท้จริง
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางเพ็ญพร สายเสมา ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลคลองทับจันทร์
มือถือ ๐๘๙ ๙๒๙๔๐๒๒
แสดงความคิดเห็น