community image

องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง

อ.พาน ต.ป่าหุ่ง จ.เชียงราย
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 1 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ตำบลป่าหุ่ง ประกอบด้วย ๑๘ หมู่บ้าน ซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ร้อยละ ๘๐ และพื้นที่ราบลุ่ม เพียงร้อยละ ๒๐ ด้วยความเป็นสังคมชนบท เส้นทางการจราจรบางพื้นที่ยังไม่สะดวก ประกอบกับฐานะของประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลป่าหุ่งอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ ๙๐ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน ประชาชนบางรายไม่มียานพาหนะหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาลก่อนนำส่งโรงพยาบาล เกิดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         จากสภาพปัญหาดังกล่าว นายกฤษณะ แก้วดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง ได้ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือได้รับอุบัติเหตุ ให้ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีก่อนนำส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที จึงกำหนดการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง ถือเป็นนโยบายหลักของคณะผู้บริหารท้องถิ่น โดยจัดทำเป็นโครงการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (กู้ชีพ) เพื่อเป็นบริการสาธารณะให้ประชาชนได้รับบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในระยะเริ่มแรกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง ได้จัดเตรียมบุคลากรในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน ๑ คัน โดยได้ขออนุมัติขึ้นทะเบียนหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖

         เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ คณะกรรมการพัฒนาตำบลป่าหุ่ง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ได้ประชุมประชาคม และลงประชามติเห็นพ้องต้องกันให้จัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลป่าหุ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตำบลป่าหุ่งให้เจริญก้าวหน้า ด้วยการบูรณาการแผนงาน โครงการ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นตำบลอยู่เย็นเป็นสุขที่ยั่งยืนต่อไป

         สุขภาพจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในตำบลป่าหุ่ง ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันอย่างสมดุล บนพื้นฐานของวิถีชุมชนและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนในตำบลป่าหุ่ง “อยู่เย็น เป็นสุข”


ความท้ายทาย

๑.ด้านบุคลากรในการปฏิบัติงานและความรู้ความสามารถ ช่วงระยะเริ่มแรกที่จัดทำระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ความรู้ความสามารถและบุคลากรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก จึงได้ส่งผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) จำนวน ๑๘ นาย

๒.ด้านงบประมาณ การดำเนินงานที่ผ่านมาประสบปัญหาในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ปฏิบัติงาน จึงจัดทำเป็นโครงการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

๓.ด้านเครือข่ายความร่วมมือ การปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น จะประสบผลสำเร็จไม่ได้ หากขาดเครือข่ายความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

๔.ด้านสภาพการจราจร ด้วยสภาพพื้นที่ของตำบลป่าหุ่ง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ เมื่อหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้รับแจ้งเหตุให้เข้าช่วยเหลือประชาชนนำส่งโรงพยาบาล จึงประสบปัญหาการนำส่งผู้ป่วยช้า ด้วยสภาพการจราจร พื้นที่ และระยะทาง


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         ๑.พอเพียง - คนในชุมชนดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง ไม่ประมาท สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

         ๒.วินัย - อาสาสมัครในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตน อีกทั้งเพิ่มพูนความรู้ด้านการปฐมพยาบาลและกู้ชีพกู้ภัยประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

         ๓.สุจริต - อาสาสมัครในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ยึดมั่นปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ด้วยความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักในการรักษาข้อมูลของผู้ป่วย ไม่เปิดเผยภาพผู้ป่วยก่อนได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัวหรือครอบครัวของผู้ป่วย

         ๔.จิตอาสา - คนในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้ที่ใส่ใจต่อสังคมสาธารณะ และอาสาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมิได้หวังผลตอบแทน ผ่านการเป็นอาสาสมัครของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

         นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ “ความสงบสุขที่เกิดกับชุมชน” จากการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และธรรมนูญสุขภาพตำบลป่าหุ่ง ก่อให้เกิดการมีระบบสวัสดิการในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย มีหน่วยงานและช่องทางในการให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที การเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ลดความเหลี่ยมล้ำทางสังคม

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่งมุ่งมั่นพยายามที่จะขยายผลการดำเนินงานด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉินและธรรมนูญสุขภาพต่อสังคมภายนอก ให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากชุมชนตำบลป่าหุ่ง ไปขยายผลต่อในที่อื่นๆ พัฒนาทีมงาน และฐานการเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานขององค์กรภายนอก อีกทั้งสร้างหลักประกันที่จะพัฒนาไปสู่ “ตำบลอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน” ขับเคลื่อนกระบวนการด้านสุขภาพ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ป่าหุ่ง: ทำดี วิถีสุข”


ผู้ติดต่อในพื้นที่

นางซ่อนกลิ่น วิเชยันต์ ๐๙๒-๗๖๑-๕๓๓๘ 


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางซ่อนกลิ่น วิเชยันต์ ๐๙๒-๗๖๑-๕๓๓๘

แสดงความคิดเห็น

profile