กว่าจะมาเป็นวันนี้
การจัดการขยะมูลฝอยซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของ.อบตประศุก เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นนั้นขาดการบริหารจัดการให้ถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งทางอบต.ไม่มีรถเก็บขยะ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบุคลากร งบประมาณการจัดเก็บ การกำจัด ในช่วงปี ๒๕๖๐ ก่อนออก ข้อบัญญัติอบตประศุกเรื่องการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ต่อมาปี ๒๕๖๒มีการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางในการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลที่เหมาะสมกับสภาพสังคม ดังนั้นผู้บริหารจึงมีนโยบายที่จะบริหารจัดการขยะในพื้นที่โดยได้ไปดูงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นำวิธีการมาปรับใช้ และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดตั้งกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิลตำบลประศุก เพื่อเป็นการบริหารจัดการขยะที่ต้นทางโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการต่อยอดโดยการให้สวัสดิการค่าจัดงานศพเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับประชาชนให้สมัครสมาชิก
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
นำแนวคิดการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนที่ไปศึกษาดูงานมาปรับใช้ เช่น การส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การสร้างแรงจูงใจให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทางกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิลตำบลประศุก ด้วยขั้นตอนการทำงานมีดังนี้
๑.การสำรวจ จัดเก็บข้อมูลขยะ เพื่อนำข้อมูลเรื่องขยะมาทำการวิเคราะห์
๒.การจัดประชุมชี้แจง และสำรวจความเห็นของประชาชนในการดำเนินการกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิล
๓.จัดอบรมความรู้ให้กับผู้นำชุมชน แกนนำหมู่บ้านและศึกษาดูงานนอกสถานที่
๔.การจัดทำสื่อรณรงค์ให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆเพื่อเข้าถึงประชาชน
๕.การแต่งตั้งมอบหมายภารกิจให้กับบุคลากรในสังกัด และผู้แทนภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในรูปแบบของกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิลตำบลประศุก
๖.จัดตั้งคณะทำงานโดยจัดทำถังขยะเปียกในครัวเรือน จัดกิจกรรมศูนย์เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพอบต.ประศุก โดยมอบหมายให้กองคลังรับผิดชอบ
๗.การจัดหน่วยบริการเก็บรวบรวมขยะอันตรายในหมู่บ้านจำนวน ๑๑ หมู่บ้าน โดยมอบหมายให้กองช่างรับผิดชอบ
๘.กิจกรรมกำจัดขยะทั่วไปในหมู่บ้าน ออกพบปะประชาชน และสอนวิธีการกำจัดด้วยการใช้ขยะให้เหลือน้อยที่สุดแล้วนำไปฝังกลบ โดยให้สำนักงานปลัดรับผิดชอบ
๙.ในประเด็นของขยะรีไซเคิล เริ่มดำเนินงานตั้งแต่การจัดทำร่างระเบียบกองทุน ด้วยการออกประชาคมนำเสนอข้อมูล หาข้อสรุปที่คนในตำบลส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน นำเรื่องระเบียบที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ เผยแพร่ข้อมูลให้สมาชิกทราบ จากนั้นติดต่อหาผู้รับซื้อและทำบันทึกข้อความตกลงร่วมกันในการออกรับซื้อ เริ่มประกาศรับสมาชิกกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิล กำหนดวันออกรับซื้อ และส่งหนังสือกำหนดวัน เวลา และสถานที่รับซื้อ มีการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เจ้าหน้าที่กองทุนออกรับซื้อขยะ และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วรายงานประธานกองทุนทุกสิ้นเดือนเมื่อครบ ๖เดือน จัดให้มีการประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานและพูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
ความท้าทาย
๑.ปัญหาในเรื่องของราคาวัสดุรีไซเคิลที่มีความผันผวน ซึ่งบางเดือนมีราคาต่ำมากทำให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการนำขยะมาขาย ทางกองทุนจึงพยายามหาร้านที่รับซื้อในราคาที่เป็นกลางไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้ามากเกินไป และอบต.ทำความเข้าใจกับชุมชน
๒. ปัญหาในเรื่องการเพิ่มยอดสมาชิกกองทุนให้ครบ ๑๐๐% อาจเป็นไปได้ยากเพราะครัวเรือนไม่มีศักยภาพในการคัดแยกขยะ เนื่องจากบางบ้านเป็นคนชราอยู่เพียงลำพัง มีปริมาณขยะน้อย ทางอบต.จึงต้องใช้แรงจูงใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของครัวเรือนสมาชิก
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.พอเพียง คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการจัดการคัดแยกขยะ ให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะต้นทางมากขึ้น รู้จักการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง งดใช้ถุงพลาสติกสามารถนำสิ่งเหลือใช้มารีไซเคิลหรือนำมาเพิ่มมูลค่าให้สามารถจำหน่ายได้ ใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
๒.วินัย คนในชุมชนเข้าใจการคัดแยกขยะ และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีจนเป็นวิถีชีวิตของชุมชน มีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ทำให้ไม่มีขยะตกค้าง
๓.สุจริต สมาชิกกองทุนธนาคารวัสดุรีไซเคิลตำบลประศุก ได้รับผลดีจากโครงการ คือได้ลดปริมาณขยะในครัวเรือนลง และสามารถแปลงขยะเป็นสินทรัพย์ฝากไว้กับกองทุน กรณีถ้าจะถอนเงินส่วนเกิน ๓๐๐ บาทก็ทำได้ และหลังจากเกิดตามที่ระเบียบกำหนดก็จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ตามระเบียบเรียกว่าเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพตามประเพณี
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
การจัดการขยะที่ต้นทางหรือครัวเรือนเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นปัจจัยแวดล้อมหรือเป็นกิจกรรมบังคับ เช่น
การรณรงค์ห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ
การประกาศข้อกำหนดท้องถิ่นในการจัดการขยะหรือสิ่งปฏิกูล
การติดตามและสำรวจข้อมูลขยะแยกประเภทในครัวเรือน รวมทั้งกิจกรรมอื่นจะเป็นปัจจัยควบคุมให้เกิดการยอมรับ โดยส่งเสริมการเรียนรู้จนเป็นวิถีชีวิต ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมีส่วนร่วมและไม่มีภาระค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณที่เกินความจำเป็น
ข้อมูลการติดต่อ
สุรศักดิ์ ค้าแหวน ๐๘๖-๘๘๕-๕๔๑๓
แสดงความคิดเห็น