เทศบาลตำบลขุนหาญมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการจัดการขยะมาตั้งแต่เริ่มยกฐานะเป็นเทศบาลตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งวิธีการกำจัดขยะในขณะนั้นเป็นวิธีการเทกอง ซึ่งมีการดำเนินการเรื่อยมาจนมีขยะสะสมยังสถานที่กำจัดขยะของเทศบาลกว่า ๒๒,๐๐๐ ตัน เทศบาลได้ดำเนินการไถกลบ ปรับกองขยะ เป็นประจำทุกปีแต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่อาจรองปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นตามความเจริญของตัวเมืองได้ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ผู้บริหารเทศบาลในขณะนั้นจึงได้คิดหาแนวทางในการจัดการปัญหาสถานที่กำจัดขยะไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบ landfill การทำเตาเผาขยะ เป็นต้น จนมาได้ข้อสรุปที่ว่าการจัดการขยะที่เหมาะสมก็คือ การจัดการขยะโดยส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยให้ประชาชนเข้ามาช่วยคัดแยกขยะ นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เนื่องจากเป็นวิธีที่ใช้งบประมาณน้อยและยั่งยืนที่สุด จึงได้มีการส่งแกนนำชุมชนหลายๆ ชุมชนในเขตเทศบาลไปศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะยังท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะแล้ว เพื่อให้แกนนำชุมชนได้นำความรู้แนวคิดต่างๆ มาสานต่องานในพื้นที่ และทางเทศบาลยังส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการขยะโดยการฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพกำจัดขยะอินทรีย์ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา จนต่อมาก็เกิดชุมชนต้นแบบด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองแล้ง ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่ช่วยขยายผลงานด้านการจัดการขยะในชุมชนไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อมา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบร่วมกันของคนในชุมชน ต้องมีวินัยในการจัดการขยะ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแกนนำที่จะต้องพาคนในชุมชนช่วยการคัดแยกขยะ และสร้างความเข้าใจ หากบ้านใครไม่ทำจริง แกนนำจะร่วมกันไปช่วยทำให้ พอนานๆ เข้าบ้านที่ไม่ทำก็เกิดความเกรงใจและเข้ามาช่วยกันจัดการขยะ และสิ่งที่สำคัญคือ ทำแล้วต้องได้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพได้นำมาใช้ในทางการเกษตร หรือบำบัดน้ำเสีย ทำธนาคารขยะรีไซเคิลก็ได้เงินออม หรือระบบฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น
๒.ส่งเสริมให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการด้านการจัดการขยะกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงาน และพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
๓.สรรหาคนในชุมชนที่เข้าใจและต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย และส่งเสริม (เสริมพลัง) ให้คนเหล่านี้คัดแยกขยะและสร้างรายได้จากการขายขยะ ทำเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชนเห็นว่าเราคัดแยกขยะได้มากเท่าไหร่ เราก็ได้เงินคืนมามากเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมานอกจากเรื่องเงิน คือการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น
และเร่งขยายผลต่อไป
๔.ประสานการทำงานระหว่างท้องถิ่นในการประสานงบประมาณจากท้องถิ่นอื่นเข้ามาร่วมจัดการขยะ ซึ่งแต่เดิมหากจะทำจะมีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะติดขัดข้อกฎหมายการทำกิจการนอกเขตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ตามพระราชบัญญัติความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๖๑(ฉบับที่ ๒) สามารถมอบหมายให้ท้องถิ่นอื่นเป็นผู้ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกับท้องถิ่นของตน โดยราชการท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายจากราชการท้องถิ่นอื่นดำเนินการจัดการขยะนั้น มิให้ถือว่าเป็นการทำกิจการนอกเขตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในจุดนี้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่มีระบบจัดการขยะสามารถทำข้อตกลงร่วมกันกับท้องที่ ที่มีระบบจัดการขยะร่วมกันจัดการขยะได้
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.ชุมชนมีระบบการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในชุมชนสะอาดขึ้น ปริมาณขยะลดลง ลดภาระและค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของเทศบาล
๒.เกิดระบบสวัสดิการชุมชน จากธนาคารขยะฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่ช่วยค่าจัดการศพครัวเรือนสมาชิก จากการนำขยะมาฝากในแต่ละเดือน เงินกำไรจากธนาคารขยะนำมาซื้อของจำเป็นสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ยากไร้ในชุมชน เป็นต้น
๓.มีการถ่ายทอดความสำเร็จไปยังหน่วยงานอื่น ที่ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาดูงาน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการขยะบางส่วนเพื่อให้เหมาะแก่บริบทของชุมชนนั้นๆ และที่สำคัญคือ การขยายผลให้มีการจัดการขยะในโรงเรียนเพราะเป็นการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเทศบาลจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
แสดงความคิดเห็น