กว่าจะมาเป็นวันนี้
คนในชุมชนวัดโพธิบัลลังก์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยจะนำผลผลิตทางเกษตรและผลิตภัณฑ์ ของชุมชนไปจำหน่ายยังชุมชนเมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับชุมชนเมือง ปัญหาของชุมชนก่อนจะเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางสังคม ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น คนในชุมชนต่างคนทำมาหากิน ทำให้การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจึงเป็นเรื่องยาก ร่วมถึงรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพก็เป็นไปได้ยาก
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เริ่มจากการที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่จัดประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจการให้แก่ชุมชนและเครือข่าย ร่วมกันคิดระดมความเห็น ร่วมมือในการสะท้อนปัญหาของชุมชน กำหนดความต้องการของคนในชุมชนสิ่งที่อยากทำ เพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดกรอบพัฒนา
๑.มีการจัดทำข้อตกลงของชุมชน ผ่านกระบวนการประชุมปรึกษาหารือแบบมีส่วนร่วม รวมถึงของตกลงในการขับเคลื่อนชุมชนร่วมกัน
๒.กำหนดเป้าหมายของชุมชน จากการประชุมปรึกษาหารือ หาปัญหาที่ต้องแก้เร่งด่วน ได้มติคือต้องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาสภาพแวดล้อม รวมทั้งต้องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชนในชุมชนผ่านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติในชุมชน
๓.ชุมชนนำปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ มาจัดทำแผนชุมชนผ่านเวทีประชาคมปรึกษาหารือ กำหนดแนวทาง กิจกรรม ขั้นตอนการดำเนินการ
๔.ดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยการนำสภาพพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกผักปลอดสารพิษ การแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบที่มีในชุมชน และคนในชุมชนร่วมกันจัดกิจกรรมทำความดีจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมทุกวันพระ นำหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
๕.ติดตามประเมินผลการดำเนินงานวัดจากรายได้ครัวเรือน หนี้สิน และความสุขของคนในชุมชน จากการสังเกต และสอบถามจากการประชุม พร้อมนำข้อบกพร่องเตรียมปรับแผนงาน/กิจกรรมในปีต่อไป
๖.ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำความดี เป็นแบบอย่างของคนในชุมชนด้านต่างๆ
๗.สรุปและประเมินผลสำเร็จของโครงการฯ/กิจกรรม โดยพิจารณาจากรายได้ของครัวเรือน เปรียบเทียบกับหนี้สิน กับปีที่ผ่านมาปัญหาความประพฤติของคนในชุมชนดีขึ้น ไม่มีการทะเลาะวิวาท ปัญหาการดื่มสุราในงานบุญประเพณีลดลง คนในชุมชนมีความสุข
๘.ขยายผลเพิ่มใน ๓ มิติ เพื่อแก้ปัญหา ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ในชุมชน เป็นชุมชนแห่งความสุขอย่างยั่งยืน โดยการนำหลักธรรมทางศาสนามาพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ
๙.ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิบัลลังก์ เป็นชุมชนต้นแบบที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอด ภูมิปัญญา รูปแบบการดำเนินการขับเคลื่อนผ่านพลังบวรในชุมชน สู่ชุมชนอื่นที่สนใจ หรือพร้อมแลกเปลี่ยนกับชุมชนข้างเคียง เพื่อขยายผลขยายเครือข่ายให้เกิดสังคมคุณธรรมอย่างยั่งยืน
ความท้าทาย
เนื่องจากเป็นชุมชนชนบทที่อยู่ติดกับมือง ทำให้คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ขาดการพึ่งพาอาศัยกัน ขาดความรักความสามัคคี ขาดจิตสาธารณะ และการรับผิดชอบร่วมกัน การพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ จึงทำได้ยาก จำต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา คือ พระครูวิสุทธิ์โพธิธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธิบัลลังก์ ประธานชุมชนคุณธรรมวัดโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจในการพัฒนาชุมชน โดยได้ดำเนินกิจกรรม สร้างความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนนำแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิบัลลังก์ เกิดผลที่ได้อย่างเด่นชัด คือคนในชุมชนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เกิดความรัก ความสามัคคีกันมากขึ้น มีจิตสาธารณะมากขึ้น โดยเห็นได้จากการรวมกลุ่มกัน เข้าวัดทำความสะอาดวัดทุกวันอาทิตย์ ทำให้วัดมีภูมิทัศน์สวยงาม สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นและรวมกลุ่มกันสืบสาน อนุรักษณ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านขนมไทย และทำไปจำหน่ายในงานต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิบัลลังก์ เป็นชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลังบวร มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชา ให้เกิดความยั่งยืน นำไปสู่การปฏิบัติให้สังคมอยู่ดีมีสุข ส่งเสริมให้คนในชุมชนสร้างรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทุนทางวัฒนธรรม มิติทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วีถีชีวิต ของชุมชน ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และมีความพร้อมในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับแผนงาน กิจกรรมที่ชุมชนกำหนดไว้ เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวต่อไป
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูวิสุทธิ์โพธิธรรม ๐๘๖-๑๖๑-๓๗๘๓
แสดงความคิดเห็น