“ชุมชนน่าอยู่ แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม
น้อมนำวิถีชีวิต เศรษฐกิจก้าวหน้า”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมวัดสารเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ทั้งผู้นำ และประชาชนในชุมชน ชุมชนพหุวัฒนธรรม ไทยพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน มีประเพณีที่โดดเด่น คือ ประเพณีลงเล ประชาชนมีอาชีพทำนา พอหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะปลูกถั่วลิสงกันทุกปี ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่าการที่เรานำถั่วลิสงไปขายสด ๆ ซึ่งได้ราคาถูกกว่าและอาจถูกกดราคาได้ด้วย เราน่าจะนำเอาผลผลิตนี้นำมาแปรรูปเป็นถั่วลิสงคั่วทรายสูตรโบราณ และก็เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย จึงจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านสารวัน ช่วงแรกเริ่มผลิตยังไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากผลผลิตที่ได้น้อย ชาวบ้านปลูกกันน้อย ไม่มีตลาดรองรับ การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน และพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น วิธีการปลูกให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายขึ้น ฯลฯ จึงทำให้เป็นที่รู้จักและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของอำเภอไม้แก่น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมวัดสารเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ทั้งผู้นำ และประชาชนในชุมชน ทุกคนจะมองไปในทิศทางเดียวกัน คือประโยชน์สุขของส่วนรวม เป็นชุมชนที่มีการร่วมกันขับเคลื่อนทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านศาสนา ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และด้านประเพณีวัฒนธรรม โดยความร่วมมือ ความสามัคคี ของวัด ชุมชน และโรงเรียน/ส่วนราชการ ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ และช่วยส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์งานด้านศาสนา ศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่สืบไป หน่วยงานของรัฐมีความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการ หรือจัดกิจกรรมในหมู่บ้าน ให้การสนับสนุนส่งเสริม ประชาสัมพันธ์กิจกรรมชุมชนอย่างหลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญา ประชาสัมพันธ์สินค้า แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทาย
ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในอดีตที่เกิดขึ้น ประชาชนในชุมชนมีความกลัว เกิดความหวาดระแวงในการดำเนินชีวิต หรือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่ด้วยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สามารถเป็นพลังผลักดันก้าวข้ามปัญหาไปได้ ชุมชนช่วยกันคิด วิเคราะห์ หาแนวทางเพื่อจะข้ามวิกฤตไปให้ได้ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ผู้นำชุมชน ภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และคอยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตตามข้อปฏิบัติหลัก ๓ ประการ คือ ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ และรักษาสืบสานวิถีวัฒนธรรมอันดีงาม ทำให้คนในชุมชนคุณธรรมวัดสารวันมีความสุข มีความเอื้ออารีต่อกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งส่วนใหญ่คนในชุมชนจะมีลักษณะของความเป็นญาติ ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ เน้นความสำคัญระบบอาวุโสเป็นหลัก โดยผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าต้องให้ความเคารพผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า การดำรงชีวิตยังคงดำรงชีวิตแบบสังคมชนบท ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความพอเพียง มีการเก็บออม พึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีรายได้เพิ่มจาก ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยการนำมาแปรรูปเพื่อให้เกิดรายได้ในครอบครัวและชุมชน จนเกิดเป็นกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านสารวัน ผลิตข้าวซ้อมมือและถั่วคั่วทราย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของอำเภอไม้แก่นอีกทั้งยังมีฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านสารวัน แหล่งผลิตอาหารและให้ความรู้ในด้านการเกษตรที่ถูกหลักวิชาการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงให้มีอาชีพและส่งเสริมการจ้างงาน แหล่งอาหารชุมชน รวมทั้งช่วยให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้การทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างถูกหลักวิชาการ สามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่น ๆ เข้ามาศึกษาดูงาน
ชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีจิตสาธารณะ มีความตั้งใจจริงที่จะทำประโยชน์ให้กับผืนแผ่นดินเกิด และเป็นที่ยอมรับจากสมาชิก รวมถึงการมีต้นทุนทางสังคมและประชาสังคมที่เข้มแข็งและแน่นแฟ้น เป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ ที่ช่วยขจัดอุปสรรค ปัญหาต่างๆในชุมชนให้เบาบางลงได้
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
- หน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน สร้างความเชื่อมั่นอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับประชาชนในชุมชน
- ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นโดยชุมชนสามารถต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับและพัฒนาเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องการการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิตและเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
ข้อมูลการติดต่อ
นายพันธ์ พรหมเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒ ๐๘๙-๘๗๖-๓๕๙๑
แสดงความคิดเห็น