กว่าจะมาเป็นวันนี้
นครชุมนั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีพ่อค้าชาวพม่า มาตั้งบริษัทค้าไม้ในพื้นที่ เกิดการอพยพ การจ้างงาน และการเป็นเส้นทางการค้าทำให้ปากคลองใต้มีชาวบ้านหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวงเป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจส่วนรวม ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินจนเกิดความเห็นแก่ตัว รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เขตโบราณสถาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแย่ลงเนื่องจากความนิยมในวัตถุ และเกิดปัญหายาเสพติด
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
หลังจากที่เข้าร่วมโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร พระราชวชิรเมธี ผศ.ดร. รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างคุณธรรมในใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยมีแนวคิดและขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
๑.การใช้วัดเป็นศูนย์กลาง แม้จะเริ่มเป็นวิถีแบบคนรุ่นใหม่แต่ยังมีความศรัทธาในพุทธศาสนา มีชาวบ้านเข้าวัดทำบุญค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ จึงได้มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับวัด
๒.เริ่มจากจุดเล็กๆ โดยเริ่มจากมีการทำกิจกรรมภายในวัดแล้วขยายสู่ชุมชน ปรับภูมิทัศน์สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมที่วัด ก็เป็นแนวทางให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมีอยู่ เกิดแนวคิดในการพัฒนา รื้อฟื้นวัฒนธรรม ประเพณีเก่าๆ มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
๓.การขยายองค์ความรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป มีการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาและสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านคนในชุมชน โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย
๔.ให้ผู้นำชุมชนเป็นต้นแบบ ทั้งผู้นำชุมชนที่ได้รับการแต่งตั้งจากภาครัฐ และผู้นำทางธรรมชาติ โดยใช้วิธีส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมจะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการทำกิจกรรมต่างๆ สร้างความสามัคคี จิตอาสา เกิดการพัฒนาเพื่อส่วนรวม
๕.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในตัวบุคคลตามที่แต่ละคนมีความถนัด เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจ และสืบทอดวิถีวัฒนธรรม เมื่อมีการกิจกรรมภายในวัด จะจัดให้มีการจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น ตามแบบตลาดย้อนยุคนครชุม เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลนครชุม และแม่ค้าพ่อค้าได้มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิม และจัดให้มีการแสดงศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ให้โอกาสเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มีเวทีในการแสดง ทำให้ศิลปินผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาเกิดความภาคภูมิใจ เด็กและเยาชนได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นถิ่นของตน เกิดการบูรณาการร่วมกันของพลังบวร
ความท้าทาย
การรวมตัวในแต่ละกิจกรรมทำได้ค่อนข้างยาก เพราะนครชุมเป็นชุมชนกึ่งบ้านกึ่งเมือง มีประชากรสามกลุ่ม คือ ข้าราชการ กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งคนทั้ง ๓ กลุ่ม มีวิถีชีวิตและแนวความคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจัดกิจกรรมที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเดียวนั้นทำได้ยาก ทางวัดจึงจัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งภายในวัด ภายในชุมชนและสถานศึกษา ตามปฏิทินกิจกรรม เช่น ทุกเย็นวันอาทิตย์ตลอดทั้งปี - กิจกรรมสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร (ธรรมจักรซันเดย์) เดือนพฤษภาคม – พิธีถวายสลากภัต
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.คนในชุมชนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก่อนต่างคนต่างอยู่ กลับมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชน
๒.การสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้คนในชุมชนได้ติดตามรับฟังคำสั่งสอนผ่านช่องทางสื่อตนเองสะดวก โดยไม่ต้องเดินทางมาที่วัดก็สามารถฟังธรรมะ องค์ความรู้ รวมถึงข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ได้
๓.เกิดการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นแก่เด็กและเยาวชน เกิดการเรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจในถิ่นที่อยู่ของตน
๔.เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขึ้นมาอย่างมากมาย เช่น การตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลนครชุม สิ่งเหล่านี้ทำให้ตำบลนครชุมเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น คนในพื้นที่มีรายได้จากการจำหน่ายอาหาร ของฝากของที่ระลึกและการแสดง
อีกทั้งชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าของโบราณสถานและศิลปวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น ปัญหายาเสพติดลดลง มีการเข้าวัดสวดมนต์ทุกสัปดาห์ มีการร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่วัดจัดขึ้นจนส่งผลให้ได้รับรางวัลหมู่บ้านศีล ๕ ดีเด่นระดับจังหวัด
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
แนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่อไป ของชุมชนคุณธรรมวัดพระบรมธาตุ คือ การใช้พลัง “บวร” จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพลังแห่งศรัทธาและจิตอาสา พร้อมทั้งพัฒนาจิตใจของชาวบ้าน ให้เป็นผู้มีความรักในถิ่นกำเนิด มีความพอเพียง ใช้หลักศาสนาในการดำเนินชีวิต ร่วมกันสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและดูแลรักษาโบราณสถานรวมถึงทรัพย์สินส่วนรวมให้คงอยู่ตลอดไป
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระราชวชิรเมธี ผศ.ดร. ๐๘๑-๘๗๕-๓๘๒๖
แสดงความคิดเห็น