“หมู่บ้านสวย รวยวัฒนธรรม
งามล้ำอุโบสถ สวยสดหัตถกรรม
งามเลิศล้ำหอพระไตร”
ชุมชนบ้านหลุกถือเป็นชุมชนเมืองที่ก่อนหน้านี้คนในชุมชนจะมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ส่งผลต่อความร่วมมือในการทำกิจกรรมของชุมชนที่มีค่อนข้างน้อย ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในชุมชน ทำให้เกิดความเปราะบางทางสังคมของชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก จนกระทั่งผู้นำชุมชนได้เล็งเห็นถึงปัญหา และผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงได้นำเข้าวาระของการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันแก้ไขและร่วมกันหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นชุมชนบ้านหลุกจึงได้ร่วมกันออกประกาศเจตนารมณ์ และร่วมกันประกาศให้เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนของคนในชุมชน เพื่อถือปฏิบัติ และเป็นกติกาของชุมชน เพื่อใช้คุณธรรมนำการพัฒนา เกิดสังคมคุณธรรมแห่งความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนวัดบ้านหลุกมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันทีจะพัฒนาให้เป็นชุมชนคุณธรรม โดยได้ประชุมเพื่อกำหนดปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ จัดทำแผนของชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง อาทิ แผนพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนเกี่ยวกับปัญหาที่อยากแก้ และแผนพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนเกี่ยวกับความดีที่อยากทำ มีการจัดโครงการหรือจัดกิจกรรมที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ อาทิ โครงการสัมมาชีพชุมชน โครงการกลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น ในขณะเดียวกันการขับเคลื่อนงานโครงการกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อร่วมกันติดตาม ประเมินผลสำเร็จว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ เพื่อทบทวน ปรับปรุง แผนพัฒนา และส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนให้บรรลุผลสำเร็จ และคราวประชุมสำคัญของชุมชน ดังนั้นความสำเร็จของชุมชนจึงเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การสนับสนุนในด้านต่างๆ จากหน่วยงานในพื้นที่ ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการจัดทำแบบประเมินความสำเร็จของชุมชนผ่านกิจกรรม ตามข้อปฏิบัติหลักของชุมชนคุณธรรม ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านศาสนา ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การนำทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้านการรักษาสืบสานวัฒนธรรม เพื่อให้บรรลุผลตามแผน และทำให้คนในชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
โดยชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลุก ได้มีการจัดกิจกรรมตามข้อปฏิบัติหลักของชุมชนคุณธรรมครบทั้ง ๓ ด้าน ประกอบด้วย
๑)กิจกรรมส่งเสริมหลักธรรมทางศาสนา
๒)หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีพ
๓)วิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นชุมชนที่มีการปฏิบัติตัวตามวิถีไทยอง ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มีการพูดด้วยสำเนียง ไทยอง การแต่งกายแบบไทยอง และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ส่งผลให้ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลุก เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เกิดสิ่งดีงามในชุมชนมากขึ้น ไม่มีปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการทะเลาะวิวาท สิ่งเสพติดลดลง คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ตลอดจนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน สามารถจุนเจือตนเองและครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังส่งผลให้สามารถเป็นต้นแบบที่เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ไปยังชุมชนเครือข่ายได้อย่างกว้างขวาง
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
จากการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จของชุมชนคุณธรรมวัดบ้านหลุก ได้มีการวางเป้าหมายในการดำเนินการในอนาคต คือการสร้าง Brand ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อนำมาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การจำหน่ายอาหาร เป็นต้น โดยผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์ชุมชนผ่านทางสื่อออนไลน์ การสร้าง Land Mark ของชุมชน การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวภายในชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืนต่อไป
ผู้ประสานงานในพื้นที่
พระครูอมรธรรมรัตน์
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบ้านหลุก
โทร ๐๕๓ ๕๖๐๕๖๙
นายพนม วงศ์นันต๊ะ
ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านหลุก
เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๙ ๖๓๖ ๓๗๔๓
แสดงความคิดเห็น