community image

ชุมชนคุณธรรมวัดคูเต่า

อ.บางกล่ำ ต.แม่ทอม จ.สงขลา
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“ชุมชนคุณธรรม จิตรกรรมล้ำค่า ศาลาร้อยปี

ท่องวิถีริมคลอง ร้องเล่นเพลงเรือ

ความเชื่อสมุนไพร คงไว้สะพานแขวน”

กว่าจะมาเป็นวันนี้  

ชุมชนคุณธรรมวัดคูเต่า เดิมคือชุมชนบ้านหัวนอนวัด โดยมีพ่อท่านหอม (พระครูสุคนธศีลาจาร) เจ้าอาวาสวัดคูเต่าสมัยนั้น เป็นศูนย์รวมของจิตใจ สร้างรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนในลักษณะ“บวร”มาเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชน สร้างความสามัคคีภายในชุมชน โดยชุมชนมีการแบ่งเขตรับผิดชอบเป็น “หยอมบ้าน” (คุ้มบ้าน) เพื่อให้ผู้นำมีบทบาทในการบริหารคนกลุ่มย่อย ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน รับทราบปัญหาและความต้องการได้ชัดเจน มีทั้งหมด ๘ หย่อมบ้าน ได้แก่ หยอมทานตะวัน หยอมร่วมใจพอเพียง หยอมชายคลองกลาง หยอมเกษตรพอเพียง หยอมเกษตรปลอดสารพิษ หยอมเทพประทาน หยอมเตยหอม และหยอมเรืองรอง โดยในแต่ละหยอมจะมีป้ายบอกชื่อผู้นำ และจุดเด่นด้านอาหาร ภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละหยอม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคุณธรรมวัดคูเต่า

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็น

ชุมชนต้นแบบ

มีการจัดกระบวนการสร้างการรับรู้และขับเคลื่อนงานในชุมชน ดังนี้

        ๑. มีการประกาศเจตนารมณ์ ข้อตกลงชุมชน ผู้นำชุมชน โดยมีการจัดประชุมผู้นำชุมชน กรรมการที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนด้วยพลังบวร เพื่อระดมความคิดเห็นและประกาศเจตนารมณ์ของชุมชน

         ๒. กำหนดเป้าหมายของชุมชน ในปัญหาที่อยากแก้ และความดีที่อยากทำ

         ๓. จัดทำแผนพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรมของชุมชน

         ๔. มีการดำเนินการตามแผนและจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาของชุมชน คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด เรื่องขยะ การผลิตสมุนไพร และการส่งเสริมให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

         ๕. มีการประเมินผลและทบทวนแผนเป็นระยะ เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีประสิทธิภาพ

         ๖. ประกาศยกย่องเชิดชูบุคคลผู้ทำความดีให้ชุมชน โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา มีการคัดเลือกคนดี และเข้ารับเกียรติบัตรในการจัดงานวันสงขลา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่งเสริมให้มีคนต้นแบบที่ได้รับการยอมรับในชุมชน

         ๗. มีการประเมินผลความสำเร็จในชุมชน ให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ชุมชนมีความสงบสุข ปัญหาในชุมชนลดลง

         ๘. มีการขยายผลกิจกรรมเพิ่มเติมใน ๓ มิติ คือส่งเสริมหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมวิถีวัฒนธรรม

         ๙. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดให้กับชุมชนที่มาดูงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม


ความท้าทาย

ปัญหาในระยะแรกของชุมชนคือ ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่รู้

และไม่เข้าใจ จึงได้มีการประชุมสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน 

โดยมีพ่อท่านหอม (พระครูสุคนธศีลาจาร) เจ้าอาวาสวัดคูเต่า เป็นศูนย์รวมของจิตใจ ปัญหาต่อมาที่พบคือการจัดระบบข้อมูล จากเดิมที่เป็นการเล่าต่อกันมาไม่ได้มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงได้มีการพัฒนาจัดการองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้เป็นระบบ มีการบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร และเพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชนได้มีการตั้งปณิธานร่วมกันว่าจะปลูกสมุนไพรครัวเรือนละ ๕ ชนิด โดยเน้นที่กินที่ใช้อยู่ประจำในแต่ละครัวเรือน มีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสมุนไพร จัดตั้งกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรคุณธรรมวัดคูเต่า”


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

คนในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการลักขโมย ปัญหายาเสพติด การเล่นการพนัน ลดลง

มีการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ

มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดการรวมกลุ่มอาชีพขึ้นในชุมชน กลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรคุณธรรมวัดคูเต่า” เพื่อทำสมุนไพรไว้ช่วยเหลือชุมชนและจำหน่าย รวมกลุ่มจัดตั้งตลาดนัด ๑๐๐ ปี เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ของชุมชนและส่งเสริมให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาต่อยอด ถ่ายทอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่าน Social Network

มีการสืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม จัดงานประเพณีในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดงานประเพณีเดือนสิบ การจัดงานประเพณีรดน้ำดำหัววันว่าง ประเพณีลากพระทางน้ำและเล่นเพลงเรือแหลมโพธิ์       

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

๑. ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สร้างชุมชนให้มั่นคงอย่างยั่งยืนโดยยังคงอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชน เช่น จัดกิจกรรมพายเรือคายัค สร้างโฮมสเตย์

๒. เสริมสร้างศักยภาพการทำงานของคนในชุมชนโดยเชิญวิทยากรภายนอกมาอบรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้

๓. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญา ณ บ้านของภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้งก่อให้เกิดรายได้แก่คนในชุมชน จากการมาท่องเที่ยว หรือศึกษาดูงาน

๔. มีการประเมินจากหน่วยงานภายนอกที่เชื่อถือได้ เป็นการการันตีความเป็นชุมชนต้นแบบ

ด้านคุณธรรม ต่อยอดการเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานของชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ


ผู้ประสานงานในพื้นที่

นายชาญวิทูร สุขสว่างไกร ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบางกล่ำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรคุณธรรมวัดคูเต่า 

เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๘ ๗๘๖ ๒๓๗๙


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายชาญวิทูร สุขสว่างไกร ๐๘๘ ๗๘๖ ๒๓๗๙

แสดงความคิดเห็น

profile